"รัฐธรรมนูญ รสช.-หนุน”บิ๊กสุ”เสียสัตย์เพื่อชาติ ชนวนเหตุ”พฤษภาทมิฬ”EP.14
"พล.อ.สุจินดา"ได้เข้าร่วมอยู่ในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.และประกาศว่า จะขอไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สุดท้ายหลังเลือกตั้งทั่วไปปี35 “พล.อ.สุจินดา” กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดตามได้ในตอน เสียสัตย์เพื่อชาติชนวนเหตุพฤษภาทมิฬEP.14
การแถลงต่อรัฐสภา หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ "พลเอก สุจินดา คราประยูร" ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 48 เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2535 พร้อมกับประโยคที่ว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ได้ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า เป็นตัวจุดชนวน และจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นการนองเลือดครั้งสำคัญของยุคผลัดใบประชาธิปไตยอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ "พล.อ.สุจินดา" ได้เข้าร่วมอยู่ในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.และประกาศว่า จะขอไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สุดท้ายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2535 "พล.อ.สุจินดา" กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และขอให้ทหารคิดว่าตัวเขาเป็นพลเรือน
ขณะที่ "พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี" รักษาการผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ก็ยังออกมาสนับสนุน โดยย้ำว่า พร้อมหนุน พล.อ.สุจินดา 2,000 เปอร์เซ็นต์
การกลับคำในครั้งนั้น จึงเป็นต้นเหตุให้ประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน "พล.อ.สุจินดา"อย่างรุนแรง และเหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลได้ร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ และจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535
โดยพรรคที่ได้จำนวนผู้แทนมากที่สุด คือ พรรคสามัคคีธรรม จำนวน 79 คน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเตรียมเสนอ "นายณรงค์ วงศ์วรรณ"หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีผู้แทนมากที่สุดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ คือ "นางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์" ได้ออกมาประกาศว่า “นายณรงค์”เป็นผู้หนึ่งที่ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด จึงเป็นเหตุให้มีการเสนอชื่อ"พล.อ.สุจินดา" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "พล.อ.สุจินดา" นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงการอดอาหารของ "เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร"และ "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง"หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น และการเรียกร้องของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มี "นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล" เป็นเลขาธิการ ตามมาด้วยการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเอกภาพ, พรรคความหวังใหม่ และพรรคพลังธรรม โดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
หลังการชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายน เมื่อเข้าเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเริ่มระดมทหารเข้ามารักษาการในกรุงเทพมหานคร และเริ่มเกิดการเผชิญหน้ากัน ระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจและทหารในบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น นำไปสู่เหตุปะทะ ที่ถูกเรียกขานมาจนถึงทุกวันนี้ว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
แต่ในที่สุดก็จบและสงบลงได้ด้วยพระบารมี ซึ่งมีการถ่ายทอดภาพการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของ "พล.อ.สุจินดา" และ "พล.ต.จำลอง" โดยมีกระแสพระราชดำรัส ให้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้ความสงบสุขของประเทศชาติกลับคืนมา
หากวิเคราะห์ลงลึกไปแล้วจะพบว่า เหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ ก็มาจากชนวนสำคัญ คือการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ที่มักจะถูกเรียกขานว่า "รัฐธรรมนูญฉบับ รสช." เพราะเป็นผลงานการยกร่าง และจัดทำของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 292 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูลของประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีทั้งสิ้นจำนวน 233 มาตรา และได้ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2534
โดยในชั้นร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีประเด็นปัญหาทางกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายประเด็น อันก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด ระหว่างคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับสาธารณชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะประชาชนต่างเข้าใจกันดีว่า การกำหนดให้บุคคลภายนอก เป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้น เท่ากับเปิดโอกาสให้ คณะ รสช.มีการสืบทอดอำนาจออกไปได้อีก นำไปสู่แรงต่อต้านออกมาอย่างชัดเจนตามที่ปรากฏ
ขอบคุณภาพประวัติศาสตร์จาก Google
>>> ติดตามอ่านซีรี่ย์เส้นทาง 89 ปีรัฐธรรมนูญไทย บนวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ เมื่อไหร่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่แท้จริง และยกร่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ในคมชัดลึกตลอดทั้งสัปดาห์