ข่าว

เปิดนโยบาย "ราชบัณฑิตยสภา" ปี 2565 ชูเทคโนฯ4.0 ขับเคลื่อนภาษาสู่ฐานราก

เปิดนโยบาย "ราชบัณฑิตยสภา" ปี 2565 ชูเทคโนฯ4.0 ขับเคลื่อนภาษาสู่ฐานราก

21 ธ.ค. 2564

เปิดนโยบาย "ราชบัณฑิตยสภา" ปี 2565 ชูเทคโนฯ4.0 ขับเคลื่อนภาษาสู่ชุมชนฐานรากผ่านเทคโนโลยี 4.0 พร้อมติวเข้มองค์ความรู้ครูภาษาไทยและครูประวัติศาสตร์ เพื่อนำไปถ่ายทอดสู่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ให้ลืมรากเหง้าตัวเอง

เปิดนโยบาย "สำนักงานราชบัณฑิตยสภา" ปี 2565 หวังขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมลงสู่ชุมชนฐานรากผ่านเทคโนโลยี4.0  พร้อมติวเข้มองค์ความรู้ครูภาษาไทยและครูประวัติศาสตร์ เพื่อนำไปถ่ายทอดสู่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ให้ลืมรากเหง้าตัวเอง

 

รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการฯ รักษาการเลขาธิการสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเปิดเผยถึงนโยบายการทำงานของ"สำนักงานราชบัณฑิตยสภา" ในปีงบประมาณ 2565 ว่ามีทั้งโครงการเดิมที่ต่อยอดมาจากปีก่อน ๆ แต่ปีนี้จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นและโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นปีหน้า(2565) ซึ่งมีทั้งกิจกรรมในพื้นที่ การฝึกอบรมและการผลิตตำรา โดยมุ่งเป้าไปที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในระดับฐานรากและบุคลากรทางการศึกษา โดยฉพาะครูภาษาไทยและครูประวัติศาสตร์ ซึ่งจะต้องได้รับเพิ่มเติมองค์ความรู้ในสาขาเพิ่มขึ้น

เปิดนโยบาย \"ราชบัณฑิตยสภา\" ปี 2565 ชูเทคโนฯ4.0 ขับเคลื่อนภาษาสู่ฐานราก

รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการฯและรักษาการเลขาธิการสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

 

กิจกรรมในปี 2565  จริง ๆ เราก็มีหลายโครงการที่ต่อยอดมา บางโครงการก็ดำเนินการมาแล้วหลายปี แต่มีปัญหาบ้างจากโรคโควิด-19 ระบาด การที่ออกไปพื้นที่โดยตรงอาจไม่สะดวก ทำให้กิจกรรมหลายอย่างต้องหยุดชะงักไป ซึ่งในปี2565 ก็จะกลับมาทำเหมือนเดิมแต่จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น

รศ.ดร.ศานติ ได้ยกตัวอย่างโครงการรู้รักษ์ภาษาไทย ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่ปี 2564 ต้องหยุดชะงักไป เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19  แต่ในปี 2565 ก็จะกลับมาจัดเหมือนเดิม แต่อาจจะปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ  โดยจะมีการนำเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วยมากขึ้น ขณะเดียวกันโครงการจัดประกวดแข่งขันการพูดภาษาไทยถิ่นของกลุ่มเด็กและเยาวชนใน 4 ภูมิภาค ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปีและปีนี้ก็จะมีการประกวดคัดลายมือเพิ่มเข้ามา 

 

การจัดประกวดปีนี้จะมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้นเพื่อให้เห็นทักษะของภาษาทั้ง 4 ด้านไม่ว่า ฟัง พูด อ่านและเขียน สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีความภูมิใจสนใจในเรื่องของการเพิ่มทักษะของตัวเอง ตอนนี้วางแผนไว้ว่าเราจะนำผลการประกวดการแข่งขันทั้ง 3 โครงการสำคัญมาจัดพิธีมอบรางวัลในวันภาษาไทยแห่งชาติในปี 2565 ด้วย ซึ่งประกอบด้วยโครงการการคัดลายมือ โครงการพูดภาษาถิ่นและโครงการทักษะการอ่าน ซึ่งก็จะครบทั้งฟัง พูด อ่านและเขียนแล้วจัดพิธีมอบรางวัลพร้อมกัน รักษาการเลขาธิการสำนักงานราชบัณฑิตยสภากล่าว

 

รศ.ดร.ศานติ  ย้ำว่าในส่วนประเด็นสำคัญและตอบสนองภาษาไทยแห่งชาตินั้น ปีนี้เราได้รับนโยบายจากรัฐบาลที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ในการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกเพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทยและการจัดอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้แก่ครูภาษาไทยและครูประวัติศาสตร์โดยคณาจารย์ผู้ทรงวุฒิราชบัณฑิตทั้ง 4 ภูมิภาค  โดยเริ่มทดลองนำร่องเมื่อปีที่แล้วซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะครูประวัติศาสตร์ที่เรียกร้องให้จัดการอบรมเพิ่มขึ้นด้วย

 

 

ตอนนี้การให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์กับเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องสำคัญมาก  ที่ผ่านมาความเข้าใจประวัติศาสตร์ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก ทั้ง ๆ ที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นการสร้างความเข้าใจรากเหง้า ความเป็นชาติ ความเป็นสังคมของเรา ถ้าเราไม่สามารถทำให้เด็กเข้าใจในสองประเด็นหลักทั้งภาษาไทยและประวัติศาสตร์แล้วคนในชาติก็จะเป็นปัญหา รักษาการเลขาธิการสำนักงานราชบัณฑิตยสภากล่าว

 

และย้ำว่านอกจากการอบรมสัมมนาต่างๆ "สำนักงานราชบัณฑิตยสภา"ยังมีแผนงานอีกสองส่วนที่จะดำเนินการในปี 2565  มีทั้งการต่อยอดและการเพิ่มจากของเดิม ส่วนการต่อยอดนั้นได้แก่การผลิตหนังสือตำรับตำรา ความรู้ที่เป็นมาตรฐานของประเทศ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ครูนำไปใช้ในหลักสูตรการสอน ส่วนอีกภารกิจสำคัญคือการเก็บรวบรวมฐานความรู้ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับการค้นคว้า โดยจัดทำเป็นสานุกรมระบบออนไลน์เพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยี 4.0  

 

ต่อไปมือถือหรือคอมพิวเตอร์จะเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ที่จะค้นคว้าสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่สนใจโดยทั่วไปด้วย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ กล่าวย้ำ

 

สำหรับ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ  เริ่มรับราชการครั้งแรก ในฐานะอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.) ประสานมิตร หลังจบปริญญาตรีคณะโบราณคดี สาขาภาษาไทยที่มหาวิทยาศิลปากร ก่อนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทคณะอักษาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาจาริกภาษาตะวันออกและปริญญาเอก สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

 

โดยได้รับราชการทำงานสอนภาษาไทยและภาษาเขมรและในด้านที่เกี่ยวข้องจนได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์(รศ.)ก่อนโอนย้ายมารับราชการที่ "สำนักงานราชบัณฑิตยสภา" ในตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาและได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการฯอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย 

 

แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างเป็นอาจารย์ที่มศว. รศ.ดร.ศานติก็ได้ร่วมทำงานให้กับ "สำนักงานราชบัณฑิต"มานานแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตำรา เขียนพจนานุกรมต่าง ๆ  และยังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการฝ่ายวิชาการของคณะจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย คณะกรรมการชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภาอีกด้วย