ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครตั้งเป้า ผลิต "เมล็ดพันธุ์ดี" ข้าวหอมมะลิ 105
ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครตั้งเป้า ผลิตและจำหน่าย "เมล็ดพันธุ์ดี" ข้าวหอมมะลิ 105 ปีละ 4,500 ตัน เพื่อให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีไว้ใช้กันต่อไป
นายคารมย์ ขุนหล้า ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร เปิดเผยว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครทำหน้าที่ในการผลิต "เมล็ดพันธุ์" ชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่าย เพื่อส่งเสริมตามนโยบายของรัฐ ทำหน้าที่เผยแพร่และกระจาย "เมล็ดพันธุ์ดี" ไปสู่เกษตรกร
และอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต"เมล็ดพันธุ์" รวมไปถึงการถ่ายทอดวิทยาการเมล็ดพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่ายปีละประมาณ 4,000-4,500 ตันต่อปี
ซึ่งในปี 2564 นี้ ศูนย์ฯได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 1,200 ตัน ข้าวกข 6 จำนวน 1,300 ตัน และกข 15 จำนวน 1,500 ตัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 ตัน เพื่อให้เกษตรกรมี "เมล็ดพันธุ์"ที่ดีไว้ใช้กันต่อไป เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครไม่พบปัญหาเรื่องคุณภาพ และได้มีการกระจายการผลิตออกไป ได้แก่ จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่การตลาดที่ศูนย์รับผิดชอบ สามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ดีได้อย่างทั่วถึงให้กับเกษตรกร
นอกจากภารกิจหลักในการผลิตเมล็ดพันธุ์แล้ว ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครมีโครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร โครงการแปลงใหญ่ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน โครงการพระราชดำริ โครงการส่งเสริมการผลิตตลาดภายในสินค้าเกษตร เป็นตลาดนำการผลิต และโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงการตลาด
นายคารมย์ ขุนหล้า ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร มีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ที่จังหวัดนครพนม ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันถึงปี 2564 รับผิดชอบอยู่ 56 แปลง พื้นที่จำนวน 61,269 ไร่
คารมย์ ขุนหล้า ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร
ซึ่งเกษตรกรทั้ง 56 แปลง ถ้าจัดการแบ่งเกรด เป็นเกรด A จำนวน 33 แปลง เกรด B จำนวน 18 แปลง ในส่วนที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 33 แปลง อินทรีย์ประมาณ 18 แปลง ซึ่งในปีที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ มีการจัดเวทีชุมชน เพื่อหาความต้องการของกลุ่มเกษตรกรว่ากลุ่มมีปัญหาอะไร แล้วก็ต้องการอะไร ขาดเหลืออะไร
ทางศูนย์จึงเข้าไปวางแผน ส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต โดยกลุ่มก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เรื่องของการผลิต "เมล็ดพันธุ์" หรือที่เรียกว่า ไข่แดง ส่วนที่ 2 เป็นการผลิตข้าวคุณภาพ ศูนย์ได้เข้าไปส่งเสริมโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการให้เมล็ดพันธุ์ไป 3 ปี จะดำเนินการในกลุ่ม “ไข่แดง” และผลิตเมล็ดพันธุ์ดีได้ก็จะมีการกระจายให้สมาชิกภายในกลุ่ม ขยายผลต่อเป็นผลิตข้าวคุณภาพดีต่อไป
และในเรื่องของการรวมกลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร ในการบริหารจัดการในการใช้เครื่องจักร และก็มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ตามกระบวนการ รวมไปถึงการเชื่อมโยงตลาด และที่ขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ให้ได้มาตรฐานครบทุกรายต่อไป
นอกจากนี้ในการขยายผลต่อในโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครก็รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดนครพนมซึ่งมีเกษตรกรแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการจำนวน 24 กลุ่ม เกษตรกรจำนวน 2,400 กว่าราย วงเงินที่มีความต้องการประมาณ 61 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครได้ดำเนินการตามกิจกรรมทั้ง 24 กลุ่มนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้ดียิ่งขึ้นต่อไปเพื่อให้ได้คุณภาพได้มาตรฐาน และมีการเชื่อมโยงตลาดต่อไป เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่า เมื่อเกษตรกรมีความเข้มแข็ง พร้อมเรียนรู้และนำองค์ความรู้มาปรับใช้ในการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การใช้ "เมล็ดพันธุ์" กระบวนการปลูก จนไปถึงกระบวนการแปรรูป ถ้าเกษตรกรมีความสามัคคี ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ จะสามารถสร้างรายได้ ได้อย่างมั่นคง ทางหน่วยงานภาครัฐจึงอยากให้พี่น้องเกษตรกรทั่วไป ได้รวมกลุ่มเป็นนาแปลงใหญ่จะได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพไปใช้ในการเพาะปลูก ตลอดกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์
สิ่งสำคัญมากที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศคำนึงถึงคือการควบคุมคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า"เมล็ดพันธุ์"ที่ผลิตมีคุณภาพดี ตามมาตรฐานที่กำหนดรวมทั้งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่เกษตรกรและลูกค้าว่าได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีไปเพาะปลูกเพื่อเกษตรกรจะได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของตนเอง ลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนและกลุ่มมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้