ข่าว

นายกฯ เน้นใช้หลักปรัชญาศก.พอเพียง สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำงบฯปี 66

นายกฯ เน้นใช้หลักปรัชญาศก.พอเพียง สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำงบฯปี 66

22 ธ.ค. 2564

โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณปี 2566 เน้นน้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” วางแนวทางจัดทำงบฯ สอดคล้อง ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันนี้ (22 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ได้รับทราบนโยบาย หลักเกณฑ์ และแนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมีความคืบหน้า ทำให้ทยอยผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโรคได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และในปี 2565 การใช้จ่ายภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท และเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  เพิ่มเติม พ.ศ. 2564  วงเงิน 5 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ดี พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะสิ้นสุดลงในปีงบประมาณ 2565  ดังนั้น การใช้จ่ายภาครัฐผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด 

 

นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง และแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม โดยให้ยึดหลัก ดังนี้ 

 

1)น้อมนำแนวทางพระราชดำริ และ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมทั้งแนวทางของพระบรมวงศานุวงศ์มาประยุกต์ใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เหมาะสม 

 

2)ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า โดยใช้งบประมาณทั้งในส่วนของหน่วยรับงบประมาณที่อยู่ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์และแผนงานพื้นฐาน  เช่น การพัฒนาด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการเกษตร และแผนงานบูรณาการอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการใช้แนวทางเกษตร Sandbox  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง