ข่าว

ศบค.ชุดเล็ก เน้นย้ำมาตรการ สกัดกั้น “โอไมครอน” ไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้าง

ศบค.ชุดเล็ก เน้นย้ำมาตรการ สกัดกั้น “โอไมครอน” ไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้าง

22 ธ.ค. 2564

ศบค.ชุดเล็ก เน้นย้ำมาตรการ รับนักท่องเที่ยว เฉพาะมีการกักตัวตัวเท่านั้น วอนทุกหน่วยงานเข้มงวดเป็นพิเศษ เร่งสกัดกั้น “โอไมครอน” ไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้าง

พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาด "โอไมครอน" ทั่วโลก แพร่กระจายไปแล้ว 95 ประเทศ  ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยอยู่ที่ 104 ราย โดยอยู่ทั้งในระบบการรักษาและบางส่วนได้รับการรักษาจนหายดีและออกจากโรงพยาบาลแล้ว

 

โดยมติศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. เมื่อวานนี้เกี่ยวกับเรื่องการรับนักท่องเที่ยวเข้าราชอาณาจักรในช่วงที่มีการระบาดโอไมครอน ซึ่งกลุ่มแรกที่จะเข้ามาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.เป็นต้นไป จะงดรับการลงทะเบียน Thailand pass ในการเข้าประเทศแบบ Test and go และ Sandbox โดยยังอนุญาตให้เข้าได้แบบที่ต้องมีการกักตัวเท่านั้น และการเข้า Sandbox สามารถเข้าได้ที่ภูเก็ตแซนด์บอกซ์เท่านั้น และกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ลงทะเบียนเพื่อเข้ามาในประเทศก่อนหน้านี้ซึ่งกระทรวงต่างประเทศโดยกรมการกงสุลได้มีการรายงานจำนวนอีก 200,000 คน ซึ่งยังสามารถเข้ามาได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดแต่เดิม

แต่ที่ประชุมเมื่อวานนี้ได้มีข้อมติว่าคนกลุ่มนี้เมื่อเข้ามาถึงแล้วต้องมีการปรับเพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัย โดยมาตรการที่เพิ่มขึ้นคือ คนกลุ่มนี้เมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วและตรวจ RT-PCR เป็นลบสามารถเดินทางต่อได้โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ ต้องสามารถติดตามตัวได้ตลอดเวลาเพื่อติดตามอาการและต้องแจ้งได้ด้วยว่าอยู่ที่ใด โดยเน้นย้ำว่าต้องมีการติดตั้งแอพพลิเคชั่นหมอชนะทุกคน และที่สำคัญ คือ ต้องกลับมาตรวจ RT-PCR ซ้ำในวันที่ 5 หรือวันที่ 6 ก่อนจะครบเจ็ดวัน โดยจะต้องตรวจที่โรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งที่สองรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจให้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวทางศบค.จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะมีการปรับมาตรการหรือไม่อย่างไรจะมีการประเมินสถานการณ์และพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 4 ม.ค.65

 

ซึ่งที่เคยมีการรายงานช่วงก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวที่หลุดจากระบบการติดตามออกไป จากนี้ต้องขอให้ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยว, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงการต่างประเทศ, การบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้มีความเข้มงวดเป็นพิเศษ เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการพยายามสกัดกั้นไม่ให้สายพันธุ์ "โอไมครอน" ระบาดเป็นวงกว้าง หรือหากมีการระบาดในประเทศก็ขอให้เป็นการระบาดอย่างน้อยที่สุด ถ้าเจอจะได้สามารถควบคุมและจำกัดวงการระบาดได้โดยไว

ซึ่งที่ ประชุม ศบค.ชุดเล็ก กรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานตัวเลขคร่าวๆของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิวันนี้อยู่ที่ประมาณ 10,787 คน ที่ภูเก็ตอีกประมาณ 2,546 คน โดยในที่ประชุม นำโดยพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช.ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ได้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อตรวจสอบจำนวนผู้เดินทางเข้าท่าอากาศยานทุกช่องทาง ให้มีการติดตามการเดินทางจนกระทั่งเข้าที่พัก และมีการติดตามการตรวจหาเชื้อครั้งที่สองให้ครบทุกราย ในช่วง 7 วันที่เข้ามาในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงสาธารณะสุข, EOC ทุกท่าอากาศยาน, การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงหรือ ศปม. และกระทรวงมหาดไทยในทุกจังหวัดรวมถึงผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักทุกโรงแรมและโรงพยาบาลคู่ปฎิบัติการที่คู่กับโรงแรมทุกโรงพยาบาล

 

นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค.ชุด เล็กมีการเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้วางไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนการปรับมาตรการสำหรับคนไทยในช่วงนี้ คือ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐห้ามลาไปต่างประเทศยกเว้นมีเหตุจำเป็น,  คนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้พิจารณาชะลอหรือยกเลิกการเดินทางที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการเดินทางไปในประเทศทางยุโรป, อเมริกา และตะวันออกกลางที่มีการแพร่ระบาดโอไมครอนจำนวนมาก ขอให้มีการตรวจ ATK ในทุกช่องทางก่อนเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางที่ใช้เวลานานและมีคนแออัด, รวมถึงเน้นย้ำมาตรการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งมาตรการการกลับภูมิลำเนาและมาตรการในการกลับเข้าที่ทำงาน คือ ตรวจ ATK ก่อนกลับบ้านและตรวจเมื่อกลับมาทำงานเพื่อความปลอดภัยของครอบครัวและในที่ทำงาน

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันว่าหลังจากเทศกาลปีใหม่ขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐให้เจ้าหน้าที่ work from home ให้ได้มากที่สุดในช่วงแรกหลังจากที่หยุดเทศกาลปีใหม่ก่อน เพื่อจะจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อ