ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี ชูมาตรการช่วย "นาแปลงใหญ่" ลดต้นทุนการผลิต
ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี ชูมาตรการช่วย "นาแปลงใหญ่" ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
นางเนตรนภา หัตถ์ฐาปนวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี เปิดเผยว่า ศมข.ลพบุรี เป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาค ในสังกัดกองเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกตูม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี มีภารกิจหลักในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่าย สู่พี่น้องเกษตรกร โดยการจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและใกล้เคียง โดยมีเกษตรกรผู้จัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ทำหน้าที่ปลูกเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์
และมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำ ควบคุม และกำกับเพื่อให้เมล็ดพันธุ์ในแปลงมีคุณภาพตามมาตรฐานที่ต้องการ มีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อกำกับให้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตมีคุณภาพตลอดกระบวนการผลิตตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ก่อนจัดทำแปลง แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ โรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ และการเก็บรักษาในโรงเก็บ เมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์ผลิตในปัจจุบัน มี 3 ชนิดพันธุ์ ได้แก่ ข้าวปทุมธานี 1 ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวกข 43 โครงการระบบส่งเสริม "เกษตรแบบแปลงใหญ่" กรมการข้าวได้มอบหมายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันนี้
"กลุ่มนาแปลงใหญ่" ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี สนับสนุนตั้งแต่ ปี 2559 -2564 มีทั้งหมด 43 แปลง สมาชิก 2,513 ราย พื้นที่ 52,035 ไร่ สิ่งสำคัญที่กรมการข้าวโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี ให้ความเอาใจใส่เกษตรกรมากที่สุดคือการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ซึ่งสิ่งที่จะเกื้อหนุนให้เป็นไปตามเป้าหมายมีหลัก 3 ประการ คือ
ประการแรก เรื่องเมล็ดพันธุ์ ซึ่งกรมการข้าวมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ทั้งพันธุ์หลักและพันธุ์ขยาย เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ทำให้คุณภาพการผลิตในแปลงนาดีขึ้น คุณภาพข้าวเปลือกดีขึ้น มีความต้านทานต่อโรคและแมลง ลดต้นทุนการบริหารจัดการส่วนนี้ เกษตรกรจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติตามแนวทาง 3 ต้องทำ 3 ต้องลด ได้แก่ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว ต้องทำนาไม่เกินปีละ 2 ครั้ง ต้องมีการจดบันทึก ส่วนต้องลดประกอบด้วย ต้องลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากเดิมใช้ 20-30 กก./ไร่ เหลือเพียง 8-10 กก./ไร่ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการใช้สารเคมี
ประการที่สอง คือการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี มี จนท.ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องข้าวตั้งแต่กระบวนการผลิตในแปลงนาจนถึงการเก็บเกี่ยว ตลอดจนวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด
อีกทั้งยังมีการลงพื้นที่ให้องค์ความรู้เรื่องโรคและแมลงศัตรูข้าว แมลงศัตรูและศัตรูธรรมชาติในนาข้าว มีการให้ยืมอุปกรณ์เครื่องมือในการผลิต การอบรมให้ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ด้านมาตรฐานคุณภาพเมล็ดพันธุ์ หลักการบริหารจัดการของกลุ่ม ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โดยการเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวทุกแปลง วิเคราะห์คุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทำปุ๋ย การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการศัตรูพืช เพื่อเป็นแนวทางช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ประการสุดท้าย คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรีส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และการผลิตข้าวคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ด้าน ICS เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การเพิ่มมูลค่าข้าว การบริหารจัดการ และการตลาด ให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของกลุ่ม รวมทั้งเตรียมการพัฒนาเกษตรกรแปลงใหญ่เข้าสู่การตรวจรับรอง เพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวโดยการยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวคุณภาพ การฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน GAP การยื่นขอรับรองมาตรฐาน GAP
อีกทั้งยังมี "กลุ่มนาแปลงใหญ่" บางส่วนที่พัฒนายกระดับตัวเองขึ้นเป็นผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกนาแปลงใหญ่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตข้าวมีความปลอดภัยต่อตนเองและผู้บริโภค ผลผลิตเพิ่มขึ้น ข้าวคุณภาพดี สร้างรายได้ที่มากขึ้นอย่างยั่งยืน