ข่าว

ประวัติ หลวงปู่มั่น - พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต พระผู้เลิศทางธุดงควัตร

ประวัติ หลวงปู่มั่น - พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต พระผู้เลิศทางธุดงควัตร

29 มิ.ย. 2567

ประวัติ ของ "หลวงปู่มั่น" หรือ พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต พระผู้ได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็น พระผู้เลิศทางธุดงควัตร

หลวงปู่มั่น หรือ พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต ถือเป็นพระอาจารย์ใหญ่ของธรรมยุตินิกาย หรือ สายกรรมฐานพระป่า ท่านปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนของพระวินัยสงฆ์ และยึดถือ ธุดงควัตร ด้วยจริยวัตร อย่างเคร่งครัด

 

ท่านยังได้วางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่คนทั่วไปอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า "คำสอนพระป่า สายพระอาจารย์มั่น"

 

หลวงปู่ได้บวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ 15 ปี ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ 2 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน แต่จิตท่านกลับคิดถึงแต่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เนืองนิจ ต่อมาหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโลได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่ บ้านคำบง พระอาจารย์มั่นในขณะเป็นฆราวาสจึงเข้าถวายการรับใช้และมีจิตศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ ต่อมาได้ถวายตัวเป็นศิษย์ติดตามเดินทางเข้าเมืองอุบลราชธานี

หลวงปู่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อ อายุ 23 ปี ณ วัดเลียบ อ.เมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 โดยมีพระอริยกระวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย ญาณสโย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับขนาดนามเป็นภาษามคธว่า ภูริทตฺโต แปลว่า ผู้ให้ปัญญา

 

หลังจากนั้นได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานีในปี พ.ศ. 2436 และได้ออกจาริกเดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ต่อมาพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ธุดงค์วิเวกไปพำนักจำพรรษา ณ พระธาตุพนม ในปี พ.ศ. 2443 ซึ่งพระธาตุพนมในสมัยก่อน ประชาชนไม่รู้ถึงความสำคัญจึงไม่มีใครสนใจเท่าใดนัก

 

เมื่อคณะของท่านมาพำนักจำพรรษาจึงได้บอกให้ชาวบ้านญาติโยมทราบว่า พระธาตุพนม องค์นี้เป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อชาวบ้านได้รู้เช่นนั้นแล้ว ก็พากันบังเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงช่วยกันทำความสะอาด ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน 3 ก็พาญาติโยมทั้งหลายทำบุญ จนเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

 

ปี พ.ศ. 2455 พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ออกธุดงค์วิเวกเพียงลำพังองค์เดียว ได้ไปพำนักปักหลักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ณ ถ้ำสาริกา แห่งนี้ ท่านได้รู้ได้เห็นธรรมอันอัศจรรย์ และได้ประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ หลายประการ อย่างตอนที่ท่านรู้สึกว่าโรคเจ็บท้องที่เคยเป็นประจำชักกำเริบและมีอาการรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยเหตุว่าท่านได้บำเพ็ญบารมี (กำลังใจในการปฏิบัติที่สั่งสม) ไว้มากในพระบวรพุทธศาสนา ท่านจึงตัดสินใจออกไปนั่งสมาธิ เจริญอสุภะกรรมฐาน จนกระทั่งจิตเกิดความอัศจรรย์ สามวันสามคืน พอจิตของท่านอิ่มตัวจากการประพฤติปฏิบัติ ได้เกิดนิมิตต่าง ๆ ขึ้นมา

 

จึงนำสิ่งที่ได้พบได้เห็นมาพิจารณาธรรมในข้อที่ว่า "กายะ ทุกขัง อริยสัจจัง" คือว่าพิจารณาว่ากายเป็นทุกข์ ไม่ทำให้เกิดความสุขให้เรา ระหว่างการภาวนาท่านระลึกได้ว่า ท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิ (ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า) จึงค้นลงไปอีกว่าปรารถนาตอนไหน พอเห็นว่าปรารถนาเมื่อสมัยพระศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า จึงเห็นว่าผ่านมานานแล้ว

 

ท่านเล่าอีกว่าถอนความปรารถนานั้น มุ่งมั่นความพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ จากนั้นเกิดเหตุในนิมิตว่า มียักษ์ตนหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย แต่ไม่สามารถทำร้ายท่านได้ ยักษ์ได้ยอมแพ้และได้เนรมิตรกายกลับเป็นเทพบุตรกล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ในกาลเวลาต่อมา จิตท่านจึงรวม เห็นโลกทั้งโลกราบเรียบเตียนโล่งเสมอด้วยลักษณะทั้งสิ้นภายในจิต

 

หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ละสังขารวันไหน


หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ละสังขารเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 อายุ 79 ปี 56 พรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ซึ่งต่อมาอัฐิของท่านได้แปรสภาพกลายเป็นพระธาตุในหลายที่ได้มีการแจกตามจังหวัดต่างๆที่ได้ส่งตัวแทนมารับ

 

แนวปฏิบัติของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ คืออะไร 

 

โดยแนวปฏิบัติ ที่ท่านยึดมั่นมาตลอดชีวิตนั้น คือธุดงค์ ซึ่งธุดงควัตรข้อสำคัญที่ท่านสามารถยึดมั่นมาตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต มี 7 ประการ คือ

 

  • ปังสุกุลิกังคธุดงค์ - ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
  • ปิณฑปาติกังคธุดงค์ - ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์
  • เอกปัตติกังคธุดงค์ - ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์
  • เอกาสนิกังคธุดงค์ - ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์
  • ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ - ถือลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม
  • เตจีวริตังคธุดงค์ - ถือใช้ผ้าไตรจีวร 3 ผืน
  • อารัญญิกังคะ - ถือละเว้นการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน

 

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานแห่งยุค ตำนานชีวิตของท่านถูกกล่าวขานกันไม่รู้จบ เป็นที่ประจักษ์แก่ศิษผู้ใกล้ชิดถึงญาณความรู้กว้างขวางแม่นยำทุกด้านหาผู้เสมอได้ยากยิ่ง  มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษา อบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ธรรมะของหลวงปู่มั่นเป็นธรรมะที่ออกมาจากใจ เฉียบคมเต็มไปด้วยข้อคิด ปัญญา เป็นมรดกตกทอดมาให้ลูกหลานชาวพุทธจนถึงทุกวันนี้ บทความนี้จึงขอส่งต่อวิทยาทานดี ๆ ให้เราชาวพุทธศึกษาและนำไปปฏิบัติกัน

 

คำสอน ของ หลวงปู่มั่น หรือ พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต

 

  • เราทั้งหลาย ต่างเกิดมาด้วยวาสนา มีบุญพอเป็นมนุษย์ได้ อย่างเต็มภูมิ ดังที่ทราบอยู่แก่ใจ อย่าลืมตัวลืมวาสนา โดยลืมสร้างคุณงามความดีเสริมต่อ ภพชาติของเรา ที่เคยเป็นมนุษย์ จะเปลี่ยนแปลง และกลับกลายหายไป เป็นชาติที่ต่ำทราม ท่านจึงสอน ไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน เมื่อเห็นเขาตกทุกข์ หรือกำลังจน จนน่าทุเรศ เราอาจมีเวลาเป็นเช่นนั้น หรือยิ่งกว่านั้นก็ได้ เมื่อถึงวาระเข้าจริง ๆ ไม่มีใครมีอำนาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะกรรมดี กรรมชั่ว เรามีทางสร้างได้ เช่นเดียวกับผู้อื่น

 

  • เกิดมาแล้ว ก็แก่ เจ็บ ตาย แต่ก่อนจะตาย ทานยังไม่มี ก็ให้มีเสีย ศีลยังไม่เคยรักษา ก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญ ก็เจริญให้พอเสียจะได้ไม่เสียที ที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาด้วยความไม่ประมาท..นั้นละจึงจะสม กับที่ได้เกิดมาเป็นคน

 

  • ผู้มีปัญญาไม่ควรให้สิ่งที่ล่วงแล้วตามมา ไม่ควรหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ผู้มีปัญญาได้เห็นในธรรมซึ่งเป็นปัจจุบัน ควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนืองๆ ควรรีบทำเสีย ผู้มีปัญญาซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีความเพียรแยกกิเลสให้หมดไป จะไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน

 

  • จะเอาอะไรมาเพิ่มอีก..ก็ถ้าหากตายไปในวันนี้วันพรุ่งนี้ สิ่งต่างๆที่เคยมีและผ่านเข้ามา ตะเกียดตะกายดิ้นรนไขว่คว้า ทุกอย่างก็จะเป็นเพียงแค่ สิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเรา

 

  • ไม่ควร "ยกโทษ ผู้อื่น" หรือ "เพ่งโทษผู้อื่น" ถึงแม้นผู้นั้น จะไม่ดีก็ตามที เพราะการเพ่งโทษผู้อื่น จะนำความวิบัติสู่ตนโดยไม่รู้ตัว ความเผลอสติ มักพาให้ผู้คนนั้น "ยกโทษผู้อื่น และพยายามยกคุณตนเอง" แทนที่จะ "ยกคุณผู้อื่น ยกโทษตนพิจารณา"

 

  • วิธีการภาวนา คือ วิธีสังเกตตัวเอง สังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิก ไม่อยู่เป็นปกติสุข ด้วยการมีสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดบทหนึ่ง เป็นคำบริกรรม เพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุขในขณะการภาวนา ท่านจึงสอนไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน เมื่อเห็นเขาตกทุกข์ หรือกำลังจน จนน่าทุเรศ เราอาจมีเวลาเป็นเช่นนั้น หรือ ยิ่งกว่านั้นก็ได้ เมื่อถึงวาระเข้าจริง ๆ ไม่มีใครมีอำนาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะกรรมดี กรรมชั่ว เรามีทางสร้างได้เช่นเดียวกับผู้อื่น ผู้สงสัยกรรม หรือไม่เชื่อกรรมว่ามีผล คือ ลืมตน จะกลายเป็น ผู้มืดบอดอย่างช่วยไม่ได้

 

  • เราต้องการของดี คนดีจำต้องฝึก ฝึกจนดี จะพ้นฝึกไปไม่ได้ งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกตน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ นอกจากตายแล้วจึงหมดการฝึก คำว่า ดี จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน

 

  • คนมีทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผย และเด่นในปวงชน เป็นที่เคารพรักในหมู่ชน จะตกอยู่ทิศใดย่อมไม่อดอยาก ขาดแคลน จะมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์ ผู้มีทานประดับตน ย่อมไม่เป็นคนล้าสมัย บุคคลทุกชั้นไม่รังเกียจ

 

  • บุคคลใดปฏิบัติแล้ว บุคคลนั้นย่อมพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่เห็นความสุข ความยินดีน้อยหนึ่งในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ไม่เห็นซึ่งอะไรๆ ในเบื้องต้น ท่ามกลาง หรือที่สุดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้นซึ่งจะเข้าถึงความเป็นของไม่ควรถือเอา

 

  • อย่าลดละท้อถอยความเพียร ธรรมเป็นสมบัติกลางและเป็นสมบัติของทุกคนที่ใคร่ต่อธรรม พระพุทธเจ้ามิได้ผูกขาดไว้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ต่างมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของได้ด้วยการปฏิบัติดีของตนด้วยกัน