ข่าว

"โมลนูพิราเวียร์" FDA สหรัฐฯ อนุมัติใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่อาการน้อยแล้ว

"โมลนูพิราเวียร์" FDA สหรัฐฯ อนุมัติใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่อาการน้อยแล้ว

24 ธ.ค. 2564

FDA สหรัฐอเมริกา อนุมัติใช้ยา "โมลนูพิราเวียร์" ของ บ.เมอร์ค เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโควิดที่อาการเล็กน้อยแล้ว

ยา "โมลนูพิราเวียร์" อนุมัติใช้แล้ว องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้ประกาศออกใบอนุญาตการใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) สำหรับยา "โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir)" ของบริษัทเมอร์ค (Merck) ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยรุนแรง รวมถึงสามารถใช้รักษาผู้ที่ไม่สามารถใช้วิธีอื่นในการรักษาโควิด-19 อื่น ๆ ได้ ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 สามารถรับยา "โมลนูพิราเวียร์" ได้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น และควรรับยาโดยเร็วที่สุด หลังจากการวินิจฉัยพบโควิด-19 ภายใน 5 วันหลังจากเริ่มมีอาการ

 


นอกจากนี้ "โมลนูพิราเวียร์" ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 18 ปี เนื่องจากอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและกระดูกอ่อน ไม่อนุญาตสำหรับการรับประทาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหากป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องรับยาตัวนี้ ซึ่งยาไม่ได้ทดแทนการฉีดวัคซีน-19 ประชาชนยังควรเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนอยู่

ทั้งนี้ ยา "โมลนูพิราเวียร์" เป็นยาที่ช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายตัว ในรูปแบบแคปซูลขนาด 200 มิลลิกรัม 4 แคปซูล รับประทานทุก ๆ 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 วัน รวมเป็น 40 แคปซูล ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้นานเกิน 5 วันติดต่อกัน ในช่วง 29 วันของการศึกษา จากกลุ่มตัวอย่าง 709 คน ที่ได้รับโมลนูพิราเวียร์ พบว่า มีอยู่ 6.8% ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตภายในช่วงเวลานี้ เทียบกับ 9.7% ของ 699 คนที่ได้รับยาหลอก

 

 

ในกลุ่มผู้ที่ได้รับ "โมลนูพิราเวียร์" พบผู้เสียชีวิต 1 ราย ในช่วงติดตามผลเทียบกับ 9 รายในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และผลข้างเคียงที่สังเกตได้ในการทดลอง ได้แก่ อาการท้องร่วง คลื่นไส้ และเวียนศีรษะ และโมลนูพิราเวียร์อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เมื่อให้ยาแก่ผู้ตั้งครรภ์ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ "โมลนูพิราเวียร์" ในระหว่างตั้งครรภ์ "โมลนูพิราเวียร์" ได้รับอนุญาตให้สั่งจ่ายยาให้กับหญิงตั้งครรภ์ได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ให้บริการด้านการแพทย์ที่สั่งจ่ายยาได้พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ของการรักษาด้วยโมลนูพิราเวียร์จะมีมากเกินความเสี่ยงต่อผู้ป่วยแต่ละราย