ข่าว

นักวิจัยยอมรับ ระบบเตือนภัย "แผ่นดินไหว" ภาคเหนือ ทำไม่ได้

นักวิจัยยอมรับ ระบบเตือนภัย "แผ่นดินไหว" ภาคเหนือ ทำไม่ได้

25 ธ.ค. 2564

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ยอมรับ ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวภาคเหนือทำไม่ได้ ความเสี่ยงแค่ขนาดกลาง วิธีป้องกันดีที่สุดคือประชาชนต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ และโครงสร้างอาคารต้องมีความมั่นคงแข็งแรง

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศลาว และส่งผลให้หลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน จนเกิดกระแสในโลกโซเชียลติดอันดับ 2 ของทวิตเตอร์ประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ส่วนหนึ่งกล่าวถึงการมีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือเช่นเดียวกับในต่างประเทศนั้น
 
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวมีหลายรูปแบบ บางแบบจะไม่สามารถเตือนภัยได้ แต่บางรูปแบบอาจจะเตือนภัยได้แต่ก็เพียงไม่กี่สิบวินาทีก่อนเกิดการสั่นสะเทือนรุนแรง ในกรณีภาคเหนือของประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งส่งผลรุนแรงในระยะใกล้จุดศูนย์กลาง จึงเป็นแผ่นดินไหวในรูปแบบที่ไม่สามารถเตือนภัยได้
นักวิจัยยอมรับ ระบบเตือนภัย \"แผ่นดินไหว\" ภาคเหนือ ทำไม่ได้

ส่วนกรณีของกรุงเทพมหานคร การสั่นสะเทือนจะเกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีศูนย์กลางห่างไกลออกไปนับร้อยกิโลเมตร ในกรณีเช่นนี้มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว ซี่งอาจเตือนได้เพียง 10-20 วินาที ก่อนที่คลื่นแผ่นดินไหวจะวิ่งมาถึงกรุงเทพฯ ระยะเวลาเตือนภัยสั้น ๆ นี้จึงอาจไม่เพียงพอที่จะอพยพผู้คนออกจากอาคาร แต่อาจช่วยให้หลบเข้าที่ปลอดภัยได้ หรืออาจนำมาใช้ในการชะลอความเร็วของรถไฟความเร็วสูงที่จะมีในอนาคต เพื่อให้รถวิ่งช้าลงและไม่ตกรางจนเกิดอันตราย

สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นมีหลายรูปแบบ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมืองโกเบเมื่อหลายสิบปีก่อน และแผ่นดินไหวที่จังหวัดคุมาโมโตะ เป็นแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางใกล้ตัวเมืองมาก จึงไม่สามารถเตือนภัยได้ เพราะคลื่นแผ่นดินไหววิ่งเร็วมากด้วยความเร็วประมาณ 3-6 กิโลเมตร/วินาที ทำให้คลื่นแผ่นดินไหววิ่งมาถึงตัวเมืองในเวลาเพียงไม่กี่วินาที

ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่นมีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก ๆ ในทะเลที่อยู่ห่างจากชายฝั่งหลายร้อยกิโลเมตร กรณีเช่นนี้คลื่นแผ่นดินไหวจำเป็นต้องใช้เวลาหลายสิบวินาที หรืออาจมากกว่า 1 นาที จึงจะวิ่งมาถึงเมืองต่าง ๆ จะสามารถเตือนภัยได้ก่อนที่คลื่นจะมาเขย่าเมืองเหล่านั้น

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวต่อไปว่า วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ประชาชนจะต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ และโครงสร้างอาคารต้องมีความมั่นคงแข็งแรง จึงจะสามารถป้องกันความเสียหายจากแรงแผ่นดินไหวได้ ทั้งบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ทำงานที่มีคนอยู่จำนวนมาก จึงเป็นเหตุผลที่คณะวิจัยเน้นเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมศาสตร์มาตลอด

นักวิจัยยอมรับ ระบบเตือนภัย \"แผ่นดินไหว\" ภาคเหนือ ทำไม่ได้

โดยล่าสุดได้ปรับปรุงกฎกระทรวงเรื่องการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้กับอาคารสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยจะพยายามปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมอาคารทุกหลังในประเทศ อาคารเก่าจะต้องถูกทดแทนด้วยอาคารใหม่ที่ต้านทานแผ่นดินไหวได้