เมาขับจบแน่ กรมวิทย์ ให้บริการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด "ลดอุบัติเหตุ"
กรมวิทย์ฯ สนับสนุนการป้องกันและ "ลดอุบัติเหตุ" ทางถนน ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดจากลมหายใจ โดยจะรายงานผลใน 24ชม. หากพบมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิด "อุบัติเหตุทางถนน" และให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวัดของเครื่อง เป็นการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากผู้ขับขี่ยานพาหนะเมาสุรา
โดยส่งสอบเทียบได้ที่สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ หรือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และสงขลา หากพบว่าเครื่องมีค่าความผิดพลาดเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนดจะทำการปรับตั้งค่าใหม่ เพื่อให้เครื่องสามารถตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์ได้อย่างอย่างถูกต้องแม่นยำ และใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ซึ่งเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยการเป่าลมหายใจต้องผ่านการสอบเทียบ ตามรอบระยะเวลา 6 เดือน โดยจะมีใบรับรองผลการสอบเทียบและสติ๊กเกอร์ติดรับรองไว้ที่ตัวเครื่อง ซึ่งผู้ใช้ควรดูแลรักษาเครื่องวัดแอลกอฮอล์ฯ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เช่น ไม่ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิสูง ระวังไม่ให้เกิดการตกกระแทก ตรวจสอบแบตเตอรี่สม่ำเสมอ ใช้หลอดที่สะอาดในการเป่า และระวังไม่ให้มีน้ำลายเป่าเข้าไปอยู่บริเวณหัววัดภายในเครื่อง
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวด้วยว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บรุนแรงไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลจะทำการเจาะเลือดและส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไปยังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และส่วนภูมิภาคที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ สระบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา และตรัง ควรส่งภายใน 4 ชั่วโมง เพื่อได้ค่าใกล้เคียงกับการเกิดอุบัติเหตุ โดยทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง Gas Chromatograph (GC/GC Headspace) ให้ผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำ ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO 15189 และ ISO/IEC 17025 ซึ่งในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น (29 ธันวาคม 2564 ถึง 4 มกราคม 2565) จะดำเนินการตรวจวิเคราะห์และรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้หากพบว่าผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ หรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน