สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงแจงถอดถอนอธิการรามฯ ยก4เหตุผลบริหารบกพร่องร้ายแรง
สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง แจงถอดถอน "สืบพงษ์ ปราบใหญ่" อธิการรามฯ เผย ไม่เอี่ยวรับโอนที่ดิน ยันบริหารงานบกพร่องทำมหาวิทยาลัยเสียหายร้ายแรง
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.64 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง(ม.ร.) ศ.ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำเเหง ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วยดร.สุพจน์ อร่ามวัฒนา กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ และรศ.ดร.พันธ์เทพ วิทิตอนันต์ ประธานสภาคณาจารย์และกรรมการสภามหาวิทยาลัย แถลงข่าว มติถอดถอนอธิการบดีคนปัจจุบัน(นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่)
โดยศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม มีการหารือร่วมกันในหลายเรื่องและหนึ่งในนั้น มีการหารือประเด็นถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือเรื่องดังกล่าวและเสียงข้างมากเห็นว่า อธิการบดีไม่สมควรดำรงตำแหน่งอีกต่อไป ทั้งนี้ในการประชุมวันดังกล่าว มีกรรมการสภาฯเข้าร่วม 22 ราย ประกอบด้วยเข้าร่วมประชุมแบบออนไซต์ จำนวน 17 รายและประชุมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันซูม 5 ราย โดยมีมติถอดถอดอธิการบดี 16 เสียง คัดค้าน 0 และงดออกเสียง 5 เสียง และมีผลในวันที่ 25 ธ.ค.64
ด้านรศ.ดร.พันธ์เทพ กล่าวว่า การถอดถอนนายสืบพงษ์ เป็นวาระที่สืบเนื่องมาจากการประชุมครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม โดยในการประชุมครั้งนั้นที่ประชุมได้สอบถามนายสืบพงษ์ ในฐานะอธิการบดีเกี่ยวกับการบริหารมหาวิทยาลัย ใน 4 ประเด็น คือ
1. การฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำเเหงพ.ศ.2541 ตามจดหมายที่ได้มีการแจ้งเลื่อนการประชุม สภามหาวิทยาลัยวันที่ 23 พฤศจิกายน และวันที่ 9 ธันวาคม
2. การหารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เกี่ยวกับเอกสารที่ได้จัดส่งไปให้อว. โดยไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับสภามหาวิทยาลัยก่อน
3. การแต่งตั้งอาจารย์ที่กำลังอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
4. ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยรามคำเเหง
"โดยนายสืบพงษ์ ต้องทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 7 วัน ทั้งนี้นายสืบพงษ์ ได้ชี้แจงมาเป็นลายลักษณ์อักษร ในประชุมสภาฯวันที่ 24 ธันวาคม โดยกรรมการสภาฯได้สอบถานายสืบพงษ์ ว่าเหตุใด อธิการบดีจึงได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของทางสภามหาวิทยาลัย ด้วยการสั่งเลื่อนการประชุมสภาฯ ถึง2ครั้งติดต่อกัน ทั้งที่ไม่มีอำนาจในการสั่งเลื่อน ซึ่งอธิการบดีในขณะนั้น ได้ขอใช้สิทธิ์ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่เสนอให้ที่ประชุมทุกข้อ ที่ประชุมจึงได้มีมติให้นายสืบพงษ์ ออกจากห้องประชุมเพื่อจะได้พิจารณาคำชี้แจงอย่างรอบคอบ"
"ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พบว่า นายสืบพงษ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภาวิทยาลัยถึง 2 วาระ ก่อนที่จะเป็นอธิการบดี ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับข้อบังคับมหาวิทยาลัย จึงฟังไม่ขึ้น การที่นายสืบพงษ์ ไม่เรียนประชุมสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกอุปนายกสภาฯ ตามที่กรรมการสภาฯ 8 คนเข้าชื่อ จึงเป็นการขัดต่อข้อบังคับ"
ที่ประชุมสภาฯพิจารณาแล้วเห็นพ้องกันว่า การที่ฝ่ายบริหารพยายามเลื่อนการประชุมสภาฯ และไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ ทั้งที่สภาฯ ต้องการแก้ไขปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัยไม่ให้ลุกลามบานปลาย แต่นายสืบพงษ์กลับไม่ให้ความร่วมมือ โดยให้เหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นว่า ต้องรอคำตอบเกี่ยวกับองค์ประกอบของกรรมการสภาฯ ที่ได้หารือกับทางอว.ซึ่งนายสืบพงษ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการสภาฯถึง 2 วาระย่อมตระหนักดีว่าสภาฯไม่มีปัญหาเกี่ยวกับองค์ประกอบ" รศ.ดร.พันธ์เทพ กล่าว
รศ.ดร.พันธ์เทพ กล่าวต่อว่า การขอเลื่อนประชุมสภาฯ จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่องานราชการของมหาวิทยาลัยในทุกด้าน โดยเฉพาะ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจำนวนหลายพันคนที่กำลังรอใบรับรองจากสภาฯ เพื่อนำไปสมัครงานสมัครเรียน ตลอดจนไปศึกษาต่างประเทศ บัณฑิตบางรายสอบเข้าทำงานแล้วแต่ก็ไม่สามารถมีใบรับรองจากสภาฯ ส่วนบางรายอาจถูกปรับเพื่อชดใช้ทุน เนื่องจากไม่มีเอกสารแสดงการสำเร็จการศึกษาภายในเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้สภาฯไม่สามารถรับรองหลักสูตรในทุกระดับและเอกสารที่แก้ไขปรับปรุงจำนวนมากเพื่อให้ทันต่อการประกาศใช้ในปีถัดไป ส่วนอาจาย์ที่ผ่านการอนุมัติให้เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ก็ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการสภาฯได้เช่นกัน ความบกพร่องอย่างร้ายแรงของนายสืบพงษ์ นอกจากไม่สนใจแก้ปัญหาที่เห็นขึ้นแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการขาดวิจารณญาณและคุณธรรมที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อไป