คณะตุลาการ"ศาลรัฐธรรมนูญ " บุคคลแห่งปี 2564
"ศาลรัฐธรรมนูญ" องค์กรอิสระแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 24 ปีมาแล้ว ถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างมากองค์กรหนึ่ง ในการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย อีกหนึ่งเสาหลักสำคัญที่ถูกกำหนดขึ้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อผดุงรักษารัฐธรรมนูญ
"ศาลรัฐธรรมนูญ" องค์กรอิสระแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 24 ปีมาแล้ว ถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างมากองค์กรหนึ่ง ในการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยโดยเฉพาะในการวินิจฉัยคดีทางการเมืองหลายคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้มีผลผูกพัน และเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่บุคคล และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม
ในปี 2564 นี้มีคดีสำคัญถึง 3 คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย คือ 1.คดีการปราศรัยของ 3 แกนนำกลุ่มราษฎรว่าเข้าข่ายล้มล้างสถาบันหรือไม่ 2.คดี กกต.ขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ 5 อดีตแกนนำ กปปส. ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 3.คดีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.เขตหลักสี่ พรรคพลังประชารัฐ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดปมคดีฉ้อโกง ถือว่าขัดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 3 คดีดังกล่าวได้นำไปสู่บรรทัดฐานทางการเมืองและทางสังคม และบางคดี อาจเรียกว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ "คมชัดลึก" ขอยกย่องให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" เป็น "บุคคลแห่งปี 2564"
ปัจจุบันองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีทั้งสิ้น 9 คน โดยมีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน และนายนภดล เทพพิทักษ์
แน่นอนว่า การวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีทั้งผู้พอใจและไม่พอใจ ยอมรับและไม่ยอมรับ มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากผลของคำวินิจฉัย แต่บ้านเมืองต้องมีกฎกติกา ซึ่งบัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ ในการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรอิสระในการตัดสินปมความขัดแย้งในรัฐธรรมนูญ ผ่านองค์คณะที่ได้รับการสรรหามาแล้วอย่างถี่ถ้วน หลากหลาย รอบคอบ ทั้งบุคคลที่มาจากนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ จากองค์กรตามกระบวนการยุติธรรม มารวมเป็นองค์คณะ
หากเปรียบเหมือนเกมการแข่งขันกีฬาบนสนามแข่งขัน ที่ผู้เล่นกี่ฝ่ายก็ตาม ชิงชัยตามเป้าหมายเพื่อผลแห่งชัยชนะ ท่ามกลางกองเชียร์แต่ละฝ่าย จึงจำเป็นต้องบัญญัติกฎกติกาโดยมีผู้ตัดสินคอยชี้ขาด โดยมีกรรมการที่เป็นองค์คณะทำหน้าที่ คอยติดตาม ตรวจสอบ ผู้ใดเล่นนอกเกม ใช้แทกติกละเมิดกติกา ทำร้ายคู่แข่งขัน ต้องได้รับการตักเตือน และลงโทษ ตามระดับขั้นความรุนแรง ซึ่งอาจมีผู้เห็นต่างไม่พอใจผลการตัดสินบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้สนับสนุน ยอมรับผลการตัดสิน เพราะนี่คือ กติกาที่ถูกกำหนดขึ้นในสังคมนั้นๆ
จึงไม่ต่างกับการทำหน้าที่ของ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเผชิญอยู่ในสภาพทางการเมืองปัจจุบันที่มีทั้งฝ่ายหนุนฝ่ายต้าน การสร้างความขัดแย้ง แต่บทสรุปจำเป็นต้องมีผู้ตัดสินชี้ขาด ศาลรัฐธรรมนูญ คือ องค์กรอันเป็นสถาบันตุลาการสำคัญ ในการตัดสินเพื่อผดุงไว้ให้ทุกฝ่ายอยู่ในกรอบกติกาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ถ้าไม่มีกฎกติกา ไม่มีผู้ตัดสิน สังคมนั้นๆจะอยู่ได้อย่างไร
ดังประจักษ์ชัดผ่านการพิจารณาคดีความสำคัญในรอบปีที่ผ่านมา เช่น คดีการปราศรัยของ 3 แกนนำกลุ่มราษฎรว่าเข้าข่ายล้มล้างสถาบันหรือไม่ ซึ่งตามที่รับทราบโดยกันถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของแกนนำกลุ่มราษฎร 3 คน คือนายอานนท์ นายภาณุพงศ์ และ น.ส.ปนัสยา ที่มีการปราศรัย 10 ข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 นั้น มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เจตนาละเมิดกฎหมาย จึงสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว รวมทั้งสั่งห้ามไม่ให้องค์กรเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันดำเนินการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคตด้วย
"ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง"
นอกจากนี้ ตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ดังนั้นการกระทำใด ๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าการพูด เขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรืออ่อนแอลง ย่อมมีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์"
คดีนี้ถูกมองว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานไม่ให้มีการชุมนุม หรือการเคลื่อนไหวใด ๆ หรือการกระทำใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเฉพาะตัวบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่าง ๆ ในลักษณะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะมีความผิดและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งสิ้น โดยเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้กฎหมายอาญา ม.112, ม.113, ม.116 และ ม.328 มาดำเนินคดีได้ทันที
ดังนั้น คดีนี้จึงนับเป็นคดีที่สำคัญมากคดีหนึ่งที่ส่งผลให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคล และองค์กรต่าง ๆ จะต้องพึงระมัดระวังอย่างมาก หากจะมีการชุมนุมเรียกร้อง การเคลื่อนไหว และการกระทำการใด ๆ ที่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรมนูญ ได้ยึดหลักของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่งเคร่งครัด ในการตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการวินิจฉัย นักการเมืองคนแล้วคนเล่า ซึ่งมีทั้งผู้ผ่านการตรวจสอบ ย่อมได้รับความพึงพอใจ แต่สำหรับผู้ไม่ผ่าน หรือต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ย่อมเสียใจเป็นธรรมดา แต่อย่าลืมว่า ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านกระบวนการวิธีสืบค้นไต่สวนมาอย่างรอบคอบแล้ว ไม่ว่าเป็นการวินิจฉัย สมาชิกภาพ ส.ส. ของ 5 อดีตแกนนำ กปปส. ประกอบด้วยนายชุมพล จุลใส นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายอิสสระ สมชัย นายถาวร เสนเนียม และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ถูกศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก คดีชุมนุมทางการเมือง ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.317/2564 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล 5 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องทั้ง 5 สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่
คดีนี้เป็นอีกคดีบรรทัดฐานทางการเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ในกรณีที่เป็นการชุมนุมเรียกร้องที่เกินกว่าเหตุและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตประชาชนโดยรวม ต่อการปกครองและส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติ ก็อาจนำมาสู่จุดจบชีวิตทางการเมืองของนักการเมืองได้
แม้แต่คำวินิจฉัยล่าสุด ในคดีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.เขตหลักสี่ พรรคพลังประชารัฐ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดปมคดีฉ้อโกง ถือว่าขัดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้นายสิระ ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ทำให้นายสิระ เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10 ) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงนับแต่วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 45 วัน ตามรัฐธรรมนูญยังส่งผลทำให้นายสิระ ต้องจ่ายเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ คืนให้แก่สภาผู้แทนราษฎรเกือบสิบล้านบาท ภายใน 30 วัน
คดีนี้จึงเป็นอีกคดีตัวอย่างที่สำคัญและส่งผลทำให้ผู้ที่จะสมัครส.ส.นับจากนี้ไป จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่ครบถ้วนและถูกต้องตามกฎหมายการเลือกตั้งส.ส.เท่านั้น จะแจ้งคุณสมบัติเท็จ หรือมีคดีความในทางทุจริตฉ้อโกงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษา ไม่ต่างจากนายสิระ
อย่างไรก็ตาม จากการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญในทั้ง 3 คดี นับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกิดในห้วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ส่งผลให้หมากกระดานทางการเมืองของไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือในทุกคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินนั้น คือบรรทัดฐานทางการเมืองและทางสังคมที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยมีผลบังคับทางกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน ตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในปี 2564 นี้จึงเป็นอีกปีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสูงมากในการสร้างบรรทัดฐานที่ดีงาม ทรงคุณค่า และควรค่าแก่การยึดถือปฏิบัติตามครรลองของการเมืองไทยและสังคมไทยสืบไป
อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
-พิจารณาวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ของวุฒิสภา หรือของรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี
-พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อข้อกฎหมายต่าง ๆ แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตรวจสอบว่ากฎหมายนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
-พิจารณาว่า บทบัญญัติกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับคดีต่าง ๆ นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้ง และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น
-วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
ทั้งนี้ การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ โดยจะต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปของศาลยุติธรรม