ข่าว

เริ่มวันแรก "บัตรทอง" "มอบของขวัญปีใหม่" เพิ่ม 10สิทธิประโยชน์ รักษาทุกที่

เริ่มวันแรก "บัตรทอง" "มอบของขวัญปีใหม่" เพิ่ม 10สิทธิประโยชน์ รักษาทุกที่

01 ม.ค. 2565

สปสช. หรือ บัตรทอง "มอบของขวัญปีใหม่" ส่งความสุข ปี 2565 มอบ “10 สิทธิประโยชน์ ของขวัญปีใหม่” ให้กับคนไทย เพิ่มสิทธิประโยชน์รายการใหม่ อาทิ รับบริการหมอครอบครัว ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัวทั่วประเทศ การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก เป็นต้น

สปสช. "มอบของขวัญปีใหม่" ร่วมส่งความสุข ปี 2565 มอบ “10 สิทธิประโยชน์ ของขวัญปีใหม่” ให้กับคนไทยทุกคน เพิ่มสิทธิประโยชน์รายการใหม่ พร้อมขยายบริการ เพื่อเพิ่มการดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การมีสุขภาพดีเป็นหนึ่งในคำอวยพรที่คนไทยต่างส่งความสุขให้กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ และเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจากโรคต่างๆ ก็เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลคนไทยทุกคนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการที่เป็นอุปสรรค ตลอดระยะเวลา 19 ปี ของการดำเนินงานกองทุนฯ ได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดูแลประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มวันแรก \"บัตรทอง\" \"มอบของขวัญปีใหม่\" เพิ่ม 10สิทธิประโยชน์ รักษาทุกที่

ในศุภวาระขึ้นปีใหม่ 2565 สปสช.ขอร่วมส่งความสุขมอบ 10 สิทธิประโยชน์บริการใหม่ และการขยายบริการให้ครอบคลุม เพื่อเป็นของขวัญให้กับคนไทยในปีใหม่นี้ ดังนี้

 

เริ่มจากสิทธิประโยชน์ที่จะเริ่มให้บริการในวันที่ 1 มกราคม 2565 ได้แก่

 

1.รับบริการหมอครอบครัว หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ เป็น 1 ใน 4 บริการเพื่อยกระดับบัตรทอง ตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิให้กับคนไทย ซึ่งปีที่ผ่านมามีการดำเนินการในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 4, 7, 9, 10 และเขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับการตอบรับด้วยดี ดังนั้นในปี 2565 นี้ จึงขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หลักการของนโยบายนี้คือ ประชาชนยังคงเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนและหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย แต่กรณีมีความจำเป็น (เหตุสมควร) สามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการปฐมภูมินอกเครือข่ายได้ โดยที่หน่วยบริการจะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาเหมือนในอดีต ที่เคยเป็นปัญหากับพี่น้องประชาชน

 

2.ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัวทั่วประเทศ เดิมการขอใบส่งตัวรักษาจากหน่วยบริการประจำเพื่อรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลเฉพาะทาง ผู้ป่วยหรือญาติต้องทำทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรือจนกว่าสิ้นสุดการรักษา นอกจากเกิดความไม่สะดวกแล้ว ยังมีภาระค่าใช้จ่ายเดินทาง จากที่นำร่องที่เขต 9 นครราชสีมา กทม.และปริมณฑล ได้รับการตอบรับด้วยดี ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับการดูแลที่เป็นระบบเดียวกัน ปี 2565 สปสช. จึงขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

3.บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) โดยให้ประชาชนทุกคนได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีหลังสัมผัสเชื้อ (PEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เป็นการขยายบริการที่นอกจากเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนแล้ว ยังมุ่งลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากเอดส์ สู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ในประเทศ 

 

4.การตรวจยีน BRCA1 BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจคัดกรองและค้นหาการกลายพันธ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม ให้พบในระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาเร็ว ซึ่งจะมีความคุ้มค่ากับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง และประหยัดต้นทุนค่ารักษาในกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์

 

5.บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry เป็นการขยายการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก เพื่อเข้าสู่การรักษาโรคหายากได้อย่างรวดเร็วและช่วยชีวิตเด็ก ซึ่งการรักษาโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกก่อนมีอาการแสดง จะช่วยประหยัดต้นทุนค่ารักษา (cost-saving) และในปัจจุบันการคัดกรองเป็นวิธีการเดียวที่มีความแม่นยำในการระบุตัวผู้ป่วยเพื่อให้การรักษาก่อนมีอาการ

 

6.การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก โดยให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ไม่มีฟันทั้งปากและมีข้อบ่งชี้การใส่รากฟันเทียม ด้วยบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมและการบำรุงรักษา รวมเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 24,200 บาทต่อราย

 

7.บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก (CA Oral Screening) เพิ่มการค้นหาผู้มีรอยโรคเสี่ยงมะเร็งช่องปากรายใหม่ เข้าสู่การรักษาได้เร็วขึ้น สำหรับประชาชนไทย อายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษา

 

นอกจากนี้ยังมีบริการใหม่เพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วอีก 3 สิทธิประโยชน์ใหม่ ได้แก่

 

8.บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ สิทธิประโยชน์เพื่อสายตาที่ดีสู่การพัฒนาการที่ดีของเด็กไทย โดยปี 2565 สปสช. กำหนดเป้าหมายคัดกรองตรวจสายตาเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศและเด็กอนุบาล 1 ถึงนักเรียนชั้น ป.6 ที่ครูสงสัยว่าเด็กมีปัญหาสายตา และนำเด็กที่มีปัญหาสายตาเข้ารับการตรวจโดยจักษุแพทย์พร้อมตัดแว่นสายตา โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ พร้อมร่วมรณรงค์มอบสิทธิประโยชน์นี้เพื่อเป็นของขวัญวันเด็ก 

 

9.เพิ่ม 2 บริการตรวจคัดกรองคู่หญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ การตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียและเชื้อซิฟิลิส เนื่องจากเป็นโรคที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ทำให้เกิดภาวะแท้งบุตร รวมถึงคุณภาพเด็กเกิดใหม่ได้ ที่ผ่าน สปสช. ได้มอบสิทธิประโยชน์นี้ให้กับหญิงตั้งครรภ์ แต่ด้วยโรคธาลัสซีเมียและซิฟิลิส คู่ของหญิงตั้งครรภ์เป็นพาหะที่ส่งต่อให้กับทารกได้ สปสช. จึงขยายเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์เพื่อให้ครอบคลุมการดูแล

 

10.ขยายบริการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis : APD) ตามที่ สปสช.ได้เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD.) ด้วยการบริการล้างไตผ่านช่องท้องใช้เครื่องอัตโนมัติ โดยนำร่องในปีที่ผ่านมา เน้นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางสังคม อาทิ นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น ในปี 2565 สปสช. ได้ตั้งเป้าหมายบริการอีกจำนวน 500 เครื่อง เป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการ และเพิ่มความสะดวกในการล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม  ขณะนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมีคุณภาพดีมากขึ้น  สปสช.เพิ่มเครื่องล้างไตอัตโนมัติAPD เกือบ 1,300 เครื่อง กระจายทั่วประเทศ

 

“ของขวัญปีใหม่ 2565 ที่มอบให้กับประชาชนนี้ มาจากความตั้งใจและมุ่งมั่นของ บอร์ด สปสช. และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดี เข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากที่สุด ทำให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหลักประกันสุขภาพจริงๆ ของประชาชน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso