ข่าว

ศธ.ออกประกาศให้สถานศึกษาใช้ "แผนเผชิญเหตุ" รับเปิดเรียน

ศธ.ออกประกาศให้สถานศึกษาใช้ "แผนเผชิญเหตุ" รับเปิดเรียน

04 ม.ค. 2565

ปลัด ศธ. ลงนามในประกาศให้สถานศึกษาทั่วประเทศ ใช้ "แผนเผชิญเหตุ" รับมือการแพร่ระบาดโควิด หลังหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่

ช่วงเทศกาลปีใหม่หยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ดร.สุภัทร จำปาทอง  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ปลัดศธ.) ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการ (เพิ่มเติม ครั้งที่ 1)เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 ให้สถานศึกษาใช้ “แผนเผชิญเหตุ” รับเปิดเรียนวันอังคารที่ 4 มกราคม 2565 เหมือนทุกครั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดมีจำนวนเพิ่มขึ้น

กระทรวงศึกษาธิการให้สถานศึกษาใช้ “แผนเผชิญเหตุ” รับมือการแพร่ระบาดโควิด

 

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 และประกาศแนวปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการภายหลังเทศกาลปีใหม่ ที่ ศธ 0100.1/ว3787 ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งหน่วยงาน และให้หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก นั้น

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจยังมีต่อเนื่องภายหลังจากเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2565 ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 จึงประกาศแนวปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มเติม ดังนี้

 

ให้สถานศึกษาประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงอย่างรอบด้านของนักเรียนหรือครูที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงการเปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นไป หากมีนักเรียนหรือครูที่เป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ให้สถานศึกษาสามารถพิจารณาปรับการเรียนการสอนเป็นระบบการศึกษาทางไกล (On air/ Online/ On hand/ On demand) ได้ตามความเหมาะสม และประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างใกล้ชิด

ให้สถานศึกษาประเมินมาตรการการเปิดเรียนตาม Thai stop COVID plus และปฏิบัติตามข้อกำหนดของ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาโดยเคร่งครัด

 

โดยพื้นที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างให้ปฏิบัติตามแนวทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

 

ให้สถานศึกษาดำเนินมาตรการตามแผนเผชิญเหตุที่กำหนด กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษา มีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือมีผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยให้มีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด และประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลเครือข่ายในพื้นที่ที่ดูแลอย่างใกล้ชิด

ดร.สุภัทร จำปาทอง ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการ (เพิ่มเติม ครั้งที่ 1)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30  ธันวาคม 2564  ก่อนหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)มีความเป็นห่วงความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการ ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” หลังเทศกาลปีใหม่“นางสาวตรีนุช” ได้มอบปลัด ศธ.ออกประกาศบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ( ศธ.)ร้อยละ 85% Work From Home ต่อเนื่อง 14 วัน และย้ำให้สถานศึกษาเคร่งครัดมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 รวมถึงการใช้ "แผนเผชิญเหตุ" ลดความเสี่ยงโควิดในสถานศึกษา