สพฐ.ออกหนังสือ "ด่วนที่สุด" ในวันหยุดยาวปีใหม่
ในสถานการณ์ที่ โอไมครอน บุกประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงสพฐ. รับผิดชอบด้วยการออกหนังสือ “ด่วนที่สุด” ในวันหยุดชดเชยวันขึ้นปีใหม่ ด้วยข้อสั่งการที่ต้องไปถามต่ออีกหลายหน่วยงาน เหมือนผลักภาระให้กับผู้ปฏิบัติ เพื่อลอยตัวอยู่เหนือปัญหา หรือไม่
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นวันจันทร์หยุดชดเชยวันขึ้นปีใหม่ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกหนังสือ “ด่วนที่สุด” ที่ ศธ 14001/ว1 เรื่อง การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หลังเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565
แจ้งถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยอ้างถึง หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04001/ว5971 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของบุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ฉบับที่ 18) ประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของบุคลากรในสังกัด ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ความแจ้งแล้วนั้น
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความห่วงใยในความปลอดภัยของนักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ภายหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กำชับเน้นย้ำสถานศึกษาในสังกัดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. การเปิดสถานศึกษาหลังเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 ขอให้สถานศึกษาในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง หรือ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และเมื่ออยู่ในสถานการณ์ปกติให้จัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไซต์
2. ATK หรือการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการที่เหมาะสม ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว โดยขอให้สถานศึกษาประสานกับสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อพิจารณาวิธีการคัดกรองที่เหมาะสม ก่อนจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไชต์
3. กรณีเมื่อพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขอให้สถานศึกษาเน้นการดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุในคู่มือแนวทางการเปิดภาคเรียนที่ 2 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
4. ขอให้สถานศึกษางดการจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเคลื่อนที่ของกลุ่มคนจำนวนมากทั้งนี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
โดยดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(เลขาธิการ กพฐ.) คนปัจจุบันได้ลงนามในหนังสือ “ด่วนที่สุด” ที่ ศธ 14001/ว1 ดังกล่าว
จากข้อความในหนังสือราชการ “ด่วนที่สุด” ฉบับดังกล่าว ซึ่งแจ้งให้หน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ทราบ ก่อนเปิดทำการเพียง 1 วัน แต่ปรากฏว่า ไม่มีข้อสั่งการใดๆ ที่สามารถปฏิบัติ ได้ทันที ต้องรอหน่วยงานอื่นเป็นผู้ตัดสินใจ
ไม่ว่าจะเป็น ศบค.จังหวัด กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) หรือแม้แต่การตรวจ ATK ให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ก็ยังให้เป็นไปตามความเหมาะสม และขอให้สถานศึกษาประสานกับสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดำเนินการ
ในสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน ผู้ปฏิบัติต้องการข้อสั่งการที่ชัดเจน ปฏิบัติได้ทันที เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทางราชการ แต่ผู้สั่งการ (สพฐ.) กลับผลักภาระให้พ้นตัว
เพียงแค่ลุกมาออกหนังสือ “ด่วนที่สุด” ในวันหยุดราชการแล้วส่งไปตามระบบแล้วแต่ใครจะทราบหรือไม่ทราบ เพื่อที่จะได้แก้ตัวได้ว่า สั่งการไปแล้วเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติที่จะพิจารณา เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา