ข่าว

เปิดคำชี้แจงนายกฯ ปมมติมหาเถรสมาคม ฟัน 5 พระวัดดัง ประกาศลง ราชกิจจาฯ

เปิดคำชี้แจงนายกฯ ปมมติมหาเถรสมาคม ฟัน 5 พระวัดดัง ประกาศลง ราชกิจจาฯ

04 ม.ค. 2565

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ คำชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังโดนตั้งกระทู้ถาม ปม มติมหาเถรสมาคม สั่งปาราชิกพระ 5 รูปวัดดัง เอี่ยวเงินทอนวัด ยันไม่ได้เป็นการเลือกปฎิบัติ

 

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.64  ราชกิจจาฯ เผยแพร่ การตอบกระทู้ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  จากการที่มีผู้ตั้งกระทู้ถาม มติมหาเถรสมาคมให้พระภิกษุ 5 รูป เข้าข่ายอาบัติปาราชิก จากกรณีเงินทอนวัด เป็นการพิจารณาแบบเลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากพบว่า มีกรณีแบบนี้ในหลายวัดทั่วประเทศ  

 

โดยเป็นกระทู้ถามของ นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อชาติ  เรื่อง นโยบายการให้เงินอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำให้เกิดข้อกังขาจากมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ มติที่ ๓๑๙/๒๕๖๔ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เข้าใจไปได้ว่า ภิกขุภาวะความเป็นภิกษุย่อมสิ้นสุดลงในขณะที่เซ็น จ่าย ย้าย โอน ทรัพย์เพราะมีไถยจิตคิดยักยอก หรือที่ฝ่ายบ้านเมืองเรียกว่า ฟอกเงินเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติกับทุกวัดที่ได้รับเงินอุดหนุน 

 

กระทู้ถามดังกล่าว มีเนื้อหาว่า  ตามที่มหาเถรสมาคมได้มีมติครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ มติที่ ๓๑๙/๒๕๖๔ เมื่อคราวประชุมวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ได้ปรากฏถ้อยคำตามมติดังกล่าวนี้ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและยังมีลักษณะ ใส่ความกล่าวหา ปรากฏในหน้าที่ ๔ ย่อหน้าที่ ๒ ความว่า "โดยที่พระภิกษุเหล่านี้ได้ร่วมกัน ฟอกเงินยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นให้มาดำเนินงานตามโครงการฯ ซึ่งถือว่าเป็นเงินของสงฆ์ไม่ใช่ของบุคคล เอาไปใช้ในกิจการอื่น โดยสร้างหลักฐานเท็จ" ซึ่งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบพยานและคำพิพากษาของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ก็ไม่ปรากฏว่า พระเถระวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทั้ง ๕ รูป ได้นำหลักฐานเท็จเข้าสู่สำนวนการต่อสู้คดีในศาลแต่อย่างใด อีกทั้ง ยังปรากฏถ้อยคำ ที่มีลักษณะกล่าวหาอันเป็นเท็จในหลายส่วน กล่าวคือ พระเถระทั้ง ๕ รูป มิได้กระทำการทุจริตใด ๆ จากเงินอุดหนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แม้กระทั่งคดี อท.๒๐๕/๒๕๖๑ คดีหมายเลขด า ที่ อท.๕๒๐/๒๕๖๓ คดีหมายเลขแดงที่ ๖๙๕๖/๒๕๖๔ ศาลอุทธรณ์ ก็มีคำพิพากษายกฟ้อง

 

ดังนั้น มติมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้องกับพระเถระทั้ง ๕ รูป จึงเป็นมติที่อาจเข้าองค์ประกอบว่ามีการกระทำ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ ที่ได้บัญญัติว่า "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ แก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

 

ซึ่งในที่นี้กรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๕ ที่บัญญัติว่า "ให้ถือว่า พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครอง คณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา"  และเรื่องนี้เลขาธิการ มหาเถรสมาคม (ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) เป็นผู้นำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม มหาเถรสมาคม ซึ่งครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการส่อเจตนาที่ไม่ชอบและเป็นการ หมิ่นประมาทพระเถระทั้ง ๕ รูป อีกด้วย

 

มติมหาเถรสมาคมดังกล่าวนี้ ได้ปรากฏความในตอนท้ายของมติว่า "สำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณาว่า พระภิกษุทั้ง ๕ รูป เข้าข่ายอาบัติปาราชิก ข้อที่ ๒ ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน (ลักทรัพย์) หรือไม่ "

 

ข้อความในส่วนนี้ เป็นการใส่ความให้ได้รับความเสียหาย ทั้ง ๆ ที่ความในก่อนหน้านี้เป็นการใส่ความ ที่ค่อนข้างชัดเจน จึงอาจแปลความได้ว่าเป็นการส่อเจตนาพิเศษที่มุ่งร้ายให้เกิดความผิดต่อพระเถระ ทั้ง ๕ รูป บนพื้นฐานแห่งความมีอคติ มติมหาเถรสมาคมดังกล่าวนี้ ได้ปรากฏความในตอนท้ายสุดของมตินี้ว่า "ที่ประชุม พิจารณาแล้วมีมติมอบให้เจ้าคณะผู้ปกครองที่เกี่ยวข้องดำเนินการวินิจฉัยอธิกรณ์ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรอง รายงานการประชุม "ถือว่า เป็นการออกมติที่มิได้คำนึงถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน ในมาตรา ๒๙ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า บุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้" มติมหาเถรสมาคม ที่กล่าวถึงนี้ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และจะไม่มีสภาพบังคับ ตามบทบัญญัติในมาตรา ๕ วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญซึ่งได้บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใด ของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติ หรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้" ดังนั้นมติมหาเถรสมาคมในส่วนที่กล่าวถึงนี้ จึงเป็นมติที่ไม่สามารถจะดำเนินการใด ๆ อีกต่อไปได้ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา ๕

 

อีกทั้ง กรรมการมหาเถรสมาคมและเลขาธิการมหาเถรสมาคมรวมทั้งคณะผู้ปกครอง เจ้าคณะสงฆ์ในระดับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ล้วนมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายและเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สามารถจะกระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพราะหากจะกระทำ เช่นนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิด ตามกฎหมายหลายบท หากผู้ที่ได้รับผลกระทบประสงค์ที่จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จากการที่มติมหาเถรสมาคมที่กล่าวถึงนี้ และเสนอโดยเลขาธิการมหาเถรสมาคมระบุไว้ ในความตอนหนึ่งว่า "ภิกขุภาวะความเป็นภิกษุย่อมสิ้นสุดลง ในขณะที่เซ็น จ่าย ย้าย โอน ทรัพย์ เพราะมีไถยจิตคิดยักยอก หรือที่ฝ่ายบ้านเมืองเรียกว่า ฟอกเงินเสร็จสมบูรณ์แล้ว และว่ากล่าวโดยสรุป บุคคลเหล่านี้ขาดจากความเป็นภิกษุก่อนที่ทางฝ่ายบ้านเมืองจะด าเนินการฟ้องและออกหมายจับ ดำเนินคดี"

 

การเขียนมติมหาเถรสมาคมดังกล่าวข้างต้นนี้ มีลักษณะเป็นการกล่าวหาพระเถระทั้ง ๕ รูป ว่าเป็นผู้กระทำความผิด มีจิตใจคิดโกงทรัพย์สินมาเป็นของตน ทั้งๆ ที่ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษา แล้วว่า มิได้มีการ กระทำทุจริตแต่อย่างใด อีกทั้ง ข้อเท็จจริงยังปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนในเอกสาร บันทึกการอนุมัติงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า ได้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการจัดการศึกษาตามโครงการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปี งบประมาณ ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นเอกสารยืนยันข้อเท็จจริงจากคำให้การของนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน บก. ปปป. เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑ และต่อมาเมื่อวันที่๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ก็ได้ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ตามบันทึกคำให้การของ บก.ป. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีวัดต่าง ๆ อีกจำนวนหลายวัด ที่มีการจัดสรรงบประมาณเช่นเดียวกันกับวัดสามพระยาวรวิหาร วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ปรากฏเป็นเอกสารหลักฐานแนบอยู่ในสำนวนของศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง ตามหมาย จ. ๖ ในคดีหมายเลขดำที่ อท.๒๐๕/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ แต่จนถึงปัจจุบันก็มิได้มีการดำเนินคดีกับวัดต่าง ๆ เหล่านั้น แต่อย่างใด ซึ่งได้ปรากฏตามบันทึกคำให้การของนายณรงค์ ทรงอารมณ์ อยู่ในสำนวนของศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง กล่าวหาวัดต่าง ๆ ว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย โดยอธิบายความว่า "ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบจากทะเบียนรายชื่อโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสานาแห่งชาติ แล้วพบว่าวัดสามพระยา วัดสัมพันธวงศาราม และวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร รวมทั้งวัดอื่นตามเอกสารผนวก ๑ - ๔ ที่กล่าวถึงข้างต้น (ยกเว้นวัดตากฟ้า พระอารามหลวง) เป็นวัดที่ไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาสังกัดอยู่ การที่มี การเบิกจ่ายงบเงินอุดหนุดการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาโครงการสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่วัดที่กล่าวข้างต้น จึงเป็นการเบิกจ่ายเงินงบประมาณไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ชอบด้วยวิธีการงบประมาณตามระเบียบ ว่าด้วยการบริหารงบประมาณฯ"หากจะถือตามมติมหาเถรสมาคม ที่ปรากฏความตามมติที่อ้างถึงนี้ว่า "ภิกขุภาวะความเป็นภิกษุย่อมสิ้นสุดลงในขณะที่เซ็น จ่าย ย้าย โอน ทรัพย์ เพราะมีไถยจิต คิดยักยอกหรือที่ฝ่ายบ้านเมืองเรียกว่า ฟอกเงินเสร็จสมบูรณ์แล้ว และว่ากล่าวโดยสรุป บุคคลเหล่านี้ ขาดจากความเป็นภิกษุก่อนที่ทางฝ่ายบ้านเมืองจะดำเนินการฟ้องและออกหมายจับดำเนินคดี" พระภิกษุในวัดต่าง ๆ ที่รับเงินอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเหล่านั้น ก็ต้องขาด จากความเป็นพระภิกษุหมดทั้งสิ้นโดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ และกรรมการมหาเถรสมาคมหลายรูป ก็เข้าข่ายตามมตินี้ด้วย หากเป็นดังนี้จริง ๆ แล้วเหตุไฉนจึงมิได้มีการดำเนินการเอาผิดกับพระภิกษุ ในวัดเหล่านั้นทั้งหมดรวมทั้งกรรมการมหาเถรสมาคมบางรูป

 

ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ว่า มีการเลือกปฏิบัติ เอากับพระภิกษุบางวัดเท่านั้นที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏเป็นอย่างนี้ เจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ที่เกี่ยวข้องก็อาจจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

ตามประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงขอเรียนถามว่า

 

๑. รัฐบาลมีแนวทางหรือมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาในกรณีที่วัดทั่วประเทศได้รับเงิน อุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ติดต่อกันกว่า ๒๐ ปี และทำไมจึงได้มีการร้องทุกข์ กล่าวโทษกับพระเถระในพระอารามหลวงเพียง ๓ วัดนี้เท่านั้น คือ วัดสามพระยาวรวิหาร วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

 

๒. กรณีเงินอุดหนุนวัดทั่วประเทศได้มีการดำเนินการติดต่อกันเรื่อยมา และเป็นงบอุดหนุน ลักษณะเดียวกันในแต่ละปี เหตุใดพึ่งจะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษกัน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เพราะหากจะร้องทุกข์กล่าวโทษการรับเงินอุดหนุนในลักษณะเดียวกันนี้ ก็สมควรจะดำเนินการในทุกปีงบประมาณ ได้อยู่แล้ว ขอทราบรายละเอียด

 

๓. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีลักษณะการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้า องค์ประกอบความผิดในการเลือกปฏิบัติอย่างแจ้งชัด ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

 

๔. รัฐบาลโดยรัฐมนตรีที่กำกับดูแลมีมาตรการในการดำเนินการที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งเอาไว้กับกองบังคับการปราบปราม ถึง ๓๓ วัด และปรากฏว่ามีพระเถระในวัดต่าง ๆ ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมเพื่อให้เกิดความเสมอภาคกับทุกวัด ขอทราบรายละเอียด

 

๕. รัฐบาลโดยรัฐมนตรีที่กำกับดูแลมีการดำเนินการในกรณีมติมหาเถรสมาคมในคราวประชุม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ ประสงค์จะปรับอธิกรณ์ด้วยอาบัติปาราชิกกับพระเถระทั้ง ๓ วัด เหตุใดจึงไม่ปรับ อธิกรณ์ด้วยอาบัติปาราชิกกับพระเถระอีก ๓๓ วัดที่เหลือ เพราะมีการกระทำแบบเดียวกันในการ รับเงินอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอทราบรายละเอียด

 

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบกระทู้ถามดังกล่าวดังนี้ 

 

นายกฯ ขอตอบกระทู้ถาม เรื่อง นโยบาย การให้เงินอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำให้เกิดข้อกังขาจากมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ มติที่ ๓๑๙/๒๕๖๔ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เข้าใจไปได้ว่า ภิกขุภาวะความเป็นภิกษุย่อมสิ้นสุดลงในขณะที่เซ็น จ่าย ย้าย โอน ทรัพย์เพราะมี ไถยจิตคิดยักยอก หรือที่ฝ่ายบ้านเมืองเรียกว่า ฟอกเงินเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงเป็นปัญหาในทาง ปฏิบัติกับทุกวัดที่ได้รับเงินอุดหนุน ของท่านสมาชิกผู้มีเกียรติตามที่ได้รับรายงานจากสำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดังนี้

 

คำตอบที่ 1 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ตรวจสอบพบว่า มีการกระทำความผิดในการเบิกจ่าย งบประมาณที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงส่งหลักฐานให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งต่อมา เมื่อได้มีการสืบสวนสอบสวนพบการกระทำความผิดของวัดใดแล้ว หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการ ตรวจสอบ จึงประสานให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับ การกระทำความผิดตามผลการสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานดังกล่าว โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มิได้มีการเลือกปฏิบัติกับวัดใดวัดหนึ่ง แต่อย่างใด

 

คำตอบที่ ๒ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่ดำเนินการตรวจสอบกรณี การเบิกจ่ายงบประมาณที่อาจเข้าข่ายขัดกับวิธีการงบประมาณหรือมิชอบด้วยกฎหมาย โดยหาก หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบทุกปีพบว่ามีการกระทำความผิดในช่วงใดและได้รับการประสานให้ไป ร้องทุกข์กล่าวโทษ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็จะดำเนินการโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

 

คำตอบที่ ๓ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยมิได้มีการเลือกปฏิบัติ แต่อย่างใด เนื่องจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบได้ทำการสืบสวนสอบสวนและ พบการ กระทำความผิดในการเบิกจ่ายงบประมาณที่มิชอบด้วยกฎหมายและได้ประสานให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามผล การสืบสวนของหน่วยงานดังกล่าว

 

คำตอบที่ ๔ เนื่องจากผลการสอบสวนของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบได้พบการกระทำความผิด ในการเบิกจ่ายงบประมาณที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงได้มีการประสานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งการกระทำความผิดจะเกี่ยวข้องกับวัดใดบ้างและมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ หน่วยงานตรวจสอบ จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนและขยายผล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมิได้เข้าไปก้าวล่วงการดำเนินการของหน่วยงานดังกล่าว และมิได้มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายด้วยความเสมอภาค

 

คำตอบที่ ๕ ในการมีมติมหาเถรสมาคม ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ มติที่ ๓๑๙/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เป็นอำนาจในการพิจารณาของกรรมการมหาเถรสมาคม หากมีผลการสืบสวน สอบสวนหรือการดำเนินการทางกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกัน มหาเถรสมาคมย่อมมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมิได้มีการ เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด 

 

คลิกอ่านฉบับเต็ม >>>

 

กระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทู้ถามที่ ๓๒๒ ร. เรื่อง นโยบายการให้เงินอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำให้เกิดข้อกังขาจากมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ มติที่ ๓๑๙/๒๕๖๔ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เข้าใจไปได้ว่า ภิกขุภาวะความเป็นภิกษุย่อมสิ้นสุดลงในขณะที่เซ็น จ่าย ย้าย โอน ทรัพย์เพราะมีไถยจิตคิดยักยอก หรือที่ฝ่ายบ้านเมืองเรียกว่า ฟอกเงินเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติกับทุกวัดที่ได้รับเงินอุดหนุน [ของ นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อชาติ]