ข่าว

สัมภาษณ์ "ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์" ฉากทัศน์การศึกษาหลังโควิด

สัมภาษณ์ "ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์" ฉากทัศน์การศึกษาหลังโควิด

05 ม.ค. 2565

ดร.แพรว "ดาริกา ลัทธพิพัฒน์" อธิการบดี มธบ. สะท้อนฉากทัศน์การศึกษาหลังโควิด สังคมเปลี่ยนการศึกษาต้องปรับ บอกลาการเรียนในรูปแบบเดิมๆ เพิ่มเติมเทคโนโลยี เน้นการสอนแบบผสมผสาน เชื่อมผู้เรียนเอาไว้ด้วยกัน ตามสไตล์ dek65 เรียนรู้เร็ว-ใส่ใจสิ่งแวดล้อม-ทักษะต้องเหนือ AI

ฉากทัศน์การศึกษาหลังโควิด ผ่านมุมมองผู้บริหารคนรุ่นใหม่ ดร.แพรว “ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.)และประธานกรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ “คมชัดลึกออนไลน์” มีรายละเอียดมานำเสนอ

 

อุดมศึกษาไทยหลังโควิดต้องปรับตัวอย่างไร

ส่วนตัวคิดว่าอาจจะต้องมาคิดวิเคราะห์กันใหม่อีกครั้งทั้งระบบ ทั้งการควบคุมค่ามาตรฐานในการเรียนออนไลน์ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) การเรียนออนไลน์อาจจะยังไม่ถูกยอมรับจากกระทรวงอุดมศึกษาฯ เพราะฉะนั้นผู้ดูแลหรือผู้ที่เกี่ยวในส่วนตรงนี้จะสามารถยืดหยุ่นได้มากน้อยแค่ไหน เพราะสังคมได้เปลี่ยนไปและก้าวไปข้างหน้าแล้ว

 

 นักศึกษาเองก็มีความคุ้นชินกับการเรียนในรูปแบบใหม่ ๆ การกลับไปให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมคงจะไม่เหมาะสม จึงเป็นจุดที่ต้องคำนึงถึงว่าจะสามารถยืดหยุ่นได้มากน้อยแค่ไหนในการนำเอาเรื่องของ การสอนแบบผสมผสาน (blended learning) เข้ามาปรับใช้

 

ซึ่งขณะนี้นักการศึกษาเองก็มีการพูดถึง การสอนแบบผสมผสาน (blended learning) ค่อนข้างเยอะ เช่น Fact to Fact Live Broadcast แต่ว่ามาตรฐานหลักสูตรโดยส่วนตัวยังไม่เห็น ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนที่ยังไม่สามารถทำได้เลยด้วยปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ซึ่งในปัจจุบันเราเองก็สามารถทำได้ด้วยการบังคับโดยสถานกรณ์

 

แต่ถ้าจะให้กล่าวจริง ๆ การเรียนการสอนในรูปแบบนี้ก็มีมานานมากแล้วในต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยก็เพิ่งที่จะเริ่มต้นและทำได้ในช่วงนี้และคาดว่าเราเองก็คงจะต้องใช้การเรียนการสอนแบบนี้ไปอีกสักพักใหญ่ จนทำให้เกิดความเคยชินทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียนเอง ดังนั้นหากจะให้กลับไปสู่กระบวนการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมก็อาจจะไม่ได้

มาตรฐานการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (blended learning)จะเป็นไปในทิศทางไหนได้บ้าง

อันที่สองหลังจากยุคโควิดนี้แล้วที่นอกจากในแง่มุมของการศึกษา ก็คงจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องของโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และแม้กระทั่งความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

โดยส่วนตัวคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ในเมื่อก่อน อาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญในมิตินี้เสียเท่าไหร่ แต่ในปัจจุบันพวกเขาจะหันมาให้ความสนใจในสิ่งแวดล้อมและสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นในมหาวิทยาลัยอาจจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นตัวตนของนักศึกษาที่เขามองในจุดนี้ 

 

เช่นถ้ามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับในเรื่องของขยะ การใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาจจะมีนักศึกษาที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันหันสนใจที่จะมาเรียนและศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของเราก็เป็นได้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน และคิดว่ามหาวิทยาลัยน่าจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้กันอย่างมากขึ้น

 

โดยที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.)หรือ DPU ก็ได้ให้ความสำคัญและสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็น Green University มหาวิทยาลัยสีเขียว โดยเราจะไม่ได้พูดถึงความสวยงามของทัศนียภาพในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว

 

แต่ว่าเรายังพูดถึงเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย ทั้งการแยกขยะ การนำของเสียที่เป็นขยะอาหาร (food waste) มาปรับอะไรได้เพิ่มเติมและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในระบบนี้เราก็มีการดำเนินการอยู่แล้วในมหาวิทยาลัย

โควิดทำให้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันกระทรวงอุดมศึกษาฯ ยังไม่ปรับเกณฑ์มาตรฐานใช่หรือไม่

ในเบื้องต้นคือยังไม่มีการประกาศที่ชัดเจนถึงการควบคุมเกณฑ์มาตรฐานการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (blended learning) จะเป็นอย่างไร ซึ่งเราเองก็ยังจะต้องจับตามองว่าเราจะได้เห็นอะไรบ้าง

 

แต่โดยจริง ๆ แล้วการศึกษาในยุคหลังโควิด ที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยการเรียนการสอนมาปีกว่า ๆ แล้ว โดยผ่านโปรแกรมที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร อาทิ Zoom, Webex, Microsoft teams หรืออะไรก็ตาม ซึ่งโดยส่วนตัวจะไม่ได้สนใจในเครื่องมือในการสื่อสารเสียมากเท่าไรและผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ต่างกัน

 

เหนืออื่นใด เครื่องมือเหล่านี้สามารถ “เก็บข้อมูล” ได้ เพราะฉะนั้นเราสามารถทำอะไรกับ "ข้อมูล" เหล่านั้นได้มากมายมากกว่าสิ่งที่เราเคยทำ ยกตัวอย่างเช่น การเชื่อมต่อของผู้เรียนเข้าด้วยกันในรูปแบบของการเรียนเป็น แบบเพื่อนสอนเพื่อน (peer to peer learning) 

 

โดยถ้าไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถทำให้การเรียนรู้ เป็นแบบ peer to peer learning ได้เลย ซึ่งมันมีความสำคัญมากกว่าผู้ส่งสารคนเดียว ซึ่งการเรียนแบบเมื่อก่อนที่เข้าไปเรียนในห้องเรียน โดยไม่มีเครื่องมืออะไรใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วก็รับความรู้จากอาจารย์หน้าห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่มีฐานข้อมูลอะไรที่จะสามารถเข้าไปสืบค้นได้เลย ซึ่งนอกจากนี้เรายังสามารถเชื่อมต่อสื่อสารกับคนที่มีความคิด หรือความสนใจที่คล้าย ๆ กันได้อีกด้วย

 

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ Personalization (ส่วนบุคคล) เมื่อพอเรามีข้อมูลด้วยเทคโนโลยีมาแล้ว จะสามารถสร้างการจดจำว่าพฤติกรรมแบบนี้ รูปแบบแบนี้ เราชอบอะไร แบบไหนอย่างไร เพราะฉะนั้นการให้บริการในด้านการศึกษาอย่างตัวอาจารย์เอง เราคาดว่านักเรียนหรือนักศึกษาของเราสนใจในเรื่องนั้น ๆ เราก็จะสามารถ ให้ประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ กับนักเรียนนักศึกษาได้มากขึ้น ทั้งการจัดกิจกรรม หรือปรับหลักสูตรให้เข้ากับปัจเจกบุคคลให้มากขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นพลังของเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย

   

อยากฝากอะไรเกี่ยวกับการศึกษาไทย

ถ้าจะห่วงในเรื่องของการศึกษาก็คงจะห่วงในเรื่องของระดับปฐมศึกษา(อนุบาล1-3) และมัธยมศึกษา(ม1-ม.6)เสียมากกว่า โดยส่วนตัวแล้วอยากเห็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ เห็นการพัฒนาการศึกษาระดับโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ และปลูกฝังการเรียนรู้แบบ dependent learner (ผู้เรียนที่ต้องพึ่งพา)ของเด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษา 

   

"เพราะมันจะทำให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง หรือก็คือ Student-Centered (เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ) และเมื่อมีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ๆ การศึกษาในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยก็จะง่ายขึ้น ซึ่งเราอยากจะปั้น ให้นักศึกษาเป็นในแบบที่เราต้องการ"

 

แต่เราได้วัตถุดิบเริ่มต้นมาในอีกแบบนึง ซึ่งมันก็เป็นความท้าทายของเรา เราจึงพยายาม ใส่ 6 DNA เข้าไปในตัวนักศึกษา เพราะว่าการเริ่มต้นการศึกษาตั้งแต่แรกอาจจะยังไม่ดีพอ โดย 6 DNA เราให้ความสำคัญมาก นอกจากนั้นก็คือทักษะที่ AI ทำได้ไม่ดีเท่าเราอันนี้คือหัวใจสำคัญ

กมลทิพย์ ใบเงิน เรียบเรียง