3 หน่วยงานเสนอแก้สื่อโฆษณาขายจักรยานยนต์ ชี้ กระตุ้นการใช้ความเร็ว
สถาบันยุวทัศน์ฯ-สสส.-ศวปถ. เสนอแก้สื่อโฆษณาจักรยานยนต์ หวังลดอุบัติเหตุ ลดแรงกระตุ้นการใช้ความเร็ว ที่เป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตถึง 3 ใน 4 และส่วนใหญ่เป็นเยาวชน
วันนี้ (5 มกราคม 2565) สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวขับเคลื่อนสื่อโฆษณาและสื่อรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชน เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2565
นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า จักรยานยนต์นับเป็นพาหนะหลักของประเทศไทย ยิ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้อัตราการใช้บริการ หรือการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่ารถยนต์ จากข้อมูลการเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตราย พบผู้เสียชีวิตเป็นผู้ใช้จักรยานยนต์ร้อยละ 82.48 มีสาเหตุจากใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดถึง 3 ใน 4 ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากค่านิยม หรือทัศนคติที่ถูกสังคมหล่อหลอม เช่น สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่มักตอกย้ำเรื่องเครื่องยนต์ความเร็วสูง สร้างภาพลักษณ์ของคนใช้ความเร็วให้รู้สึกถึงความเป็นผู้นำ
จึงขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางปฏิบัติ กำกับดูแลสื่อโฆษณาให้อยู่ในขอบเขตที่สังคมยอมรับได้ และเป็นกรอบป้องกันเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ให้มีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เหมือนหลายประเทศที่มีกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการสื่อสารโฆษณาของผู้ประกอบการรถยนต์และจักรยานยนต์ เช่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย อังกฤษ
ด้าน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมีข้อเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรม และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ 3 ข้อ ได้แก่
1.ขอให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ มีแนวทางปฏิบัติการผลิตสื่อโฆษณาไปยังผู้ประกอบการจักรยานยนต์ ให้ลดการใช้เนื้อหาที่มุ่งเน้นสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความแรงของเครื่องยนต์หรือความเร็ว เนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วมของผู้บริโภค
2.ขอให้มีการกำกับและตรวจสอบการผลิตสื่อโฆษณา สื่อภาพยนตร์ หรือสื่ออื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเนื้อหาที่นำเสนอการใช้จักรยานยนต์ของตัวละคร ต้องใช้อุปกรณ์นิรภัยทุกครั้ง เช่น การสวมหมวกนิรภัยของตัวละคร การรัดเข็มขัดนิรภัย
3.ขอให้กระทรวงวัฒนธรรม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ มีแนวทางขับเคลื่อนเรื่องวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปลูกฝังวินัยจราจร วินัยสำหรับการใช้รถใช้ถนน ผ่านสื่อโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานในสังกัด
ส่วน นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ที่ต้องเริ่มจากผู้ขับขี่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้ร่วมสัญจร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานค่านิยมของการอยู่ร่วมกันอย่างมีความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ วธ. มีหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ จะนำข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ เรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป