หมอธีระ แนะรับมือ "โอไมครอน" นาทีนี้ควรเร่งเพิ่มสถานที่กักตัวระยะสั้น
หมอธีระแนะรับมือ "โอไมครอน" ระบาดในไทยควรเตรียมสถานที่กักตัวระยะสั้นให้มาก เพราะติดแล้วอาการไม่รุนแรง ย้ำเตรียมพร้อมระบบดูแลเด็กและเยาวชนให้มากที่สุด
เกาะติดสถานการณ์การระบาดของ "โอไมครอน" หรือ "Omicron" (โอมิครอน) ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากยิ่งขึ้น ล่าสุด รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" โดยระบุว่า หากดูธรรมชาติของ Omicron ในต่างประเทศ ทั้งอเมริกาและยุโรป
ถ้าไทยโดน Omicron ในอัตราเดียวกับเค้าขณะนี้
ยอดติดเชื้อต่อวันในช่วงพีคอาจอยู่ราว 19,715-39,429 คนต่อวัน
หรือราวสัปดาห์ละ 138,000-276,000 คนในช่วงระบาดหนัก
ประเด็นที่ต้องขบคิดล่วงหน้าคือ การกระจายของเคสจะไม่ได้เท่ากันทุกจังหวัดทุกพื้นที่
ที่จะเยอะจะเป็นที่ท่องเที่ยวแออัด และเขตเมืองของแต่ละจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น
ดังนั้น caseload ที่จะเกิดขึ้น และระบบการดูแลจัดการตนเอง ครอบครัว และในชุมชน น่าจะต้องวางแผนโดยปรับเปลี่ยนจากระบบเดิม
สำหรับแนวทางการรับมือสถานการณ์การระบาดของ "โอไมครอน" ควรเน้นปริมาณสถานที่สำหรับพำนักระยะสั้น เรื่องเตียงป่วยหนักหรือไอซียูอาจเตรียมไว้บ้าง เน้นเตียงหรือสถานที่สำหรับแยกกักตัว สังเกตอาการคนอาการไม่รุนแรง
แต่ที่ต้องเตรียมมากขึ้นคือ สำหรับเด็กและเยาวชนครับ
ในแง่การควบคุมป้องกันระดับสังคม ทุกภาคส่วนคงต้องก้าวเข้ามาดูแลกันเองให้ดี โดยเฉพาะสถานที่ทำงานทุกประเภท
ได้เวลา activate ระบบงานทางไกล ลดจำนวนคนในสถานที่ทำงานให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เข้มงวดเรื่องการกำกับกำชับห้ามมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อ ตรวจคัดกรองโรคถี่ขึ้นและทำอย่างสม่ำเสมอ
สถานศึกษา...เทอมสองยังไม่ควรมองเรื่อง onsite ครับ บอกไปให้ชัดเจนเลย คนจะได้วางแผนชีวิตได้ดี ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง