ข่าว

"ประพัฒน์" ซัดรัฐบาล ไม่กล้ายอมรับความจริง หมูเป็นโรคทำเนื้อหมูราคาพุ่ง

"ประพัฒน์" ซัดรัฐบาล ไม่กล้ายอมรับความจริง หมูเป็นโรคทำเนื้อหมูราคาพุ่ง

06 ม.ค. 2565

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซัดรัฐบาล ไม่กล้ายอมรับความจริง หมูเป็นโรคระบาดทำเนื้อหมูราคาแพง พร้อมแนะวิธีแก้ปัญหา เร่งประกาศปลอดเขตโรคระบาด อนุมัติผลิตวัคซีนรักษาโรคระบาดในสัตว์

จากปัญหาเนื้อหมูราคาแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยกับคมชัดลึกว่า สาเหตุเกิดจากรัฐบาลควบคุมโรคระบาดในสัตว์ไม่ได้ ทำให้หมูตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นวิธีการแก้ไขเบื้องต้น ซึ่งรัฐบาลต้องฟังภาคเกษตรกร คือ 

  1. รัฐบาลต้องควบคุมโรคระบาดให้อยู่ ประกาศเขตปลอดโรคให้ได้
  2. ผลิตวัคซีนเอง เนื่องจากตอนนี้ไทยไม่มีโรงงานผลิตวัคซีน ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศปศุสัตว์ ดังนั้นรัฐต้องเร่งรัดให้มีการผลิตวัคซีนไว้ใช้ภายในประเทศและส่งออกด้วย 
  3. ขยายประชากรหมูโดยด่วน เนื่องจากขณะนี้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมูได้ตายไปจำนวนมาก เพราะหมูเป็นโรค จึงมีการฆ่าหมูทิ้ง 1 ใน 3 ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ฟาร์มรายใหญ่หลายฟาร์มต้องล้มละลาย

ส่วนที่ว่าปัญหาหมูแพงเกิดจากราคาอาหารหมูแพงขึ้น ไม่ใช่โรคระบาด นายประพัฒน์ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ยืนยันเพราะหมูเป็นโรค ตายไปเกินครึ่งของหมูในฟาร์มที่มี แต่เพราะมีการปิดข่าว ผู้บริโภครวมทั้งเกษตรกรบางคนจึงไม่มีใครทราบรายละเอียดที่แท้จริง ไม่เกี่ยวกับราคาอาหารหมูแพง จากพ่อแม่พันธุ์หมูตายจำนวนมาก ฟาร์มรายใหญ่ต้องล้มละลายไปหลายแห่ง อย่างที่ภาคเหนือ หมูได้ตายเพราะเป็นโรค ทำให้หมูขาดแคลน ไม่สามารถส่งให้เขียงหมูได้ตามเดิม เนื้อหมูจึงขาดตลาด ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูแพงจนทุกวันนี้ ราคาหมู 2565

 

"ยืนยันหมูเป็นโรค แต่เพราะรัฐบาลไม่ยอมประกาศว่าหมูเป็นโรคระบาด จึงอยากให้รัฐบาลยอมรับความจริง แล้วหันมาช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทั้งภาครัฐ หน่วยงานที่ควบคุมราคา เพราะหากไม่ยอมรับความจริงว่าหมูเป็นโรคระบาดก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ หมูก็จะราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเกษตรกรไม่ได้รับค่าชดเชย เกษตรกรที่ไหนจะมีเงินลงทุนต่อไป ประชากรหมูก็จะลดลง ฉะนั้นปัญหาหลัก ๆ มาจากโรคระบาดรุนแรงมากกว่าปัจจัยเรื่องราคาอาหารสัตว์เพราะต้นทุนอาหารควบคุมได้"

สำหรับโรคระบาดร้ายแรงในหมูที่พูดกันมาโดยตลอด ว่าคือ “โรคไข้หวัดแอฟริกันในสุกร-ASF” โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และโรคอหิวาต์สุกร (CSF) 

 

อย่างไรก็ตามจากราคาหมูแพงขึ้น นายประพัฒน์ ได้แนะนำผู้บริโภค หันไปบริโภคเนื้อไก่ เนื้อวัว เพื่อเป็นการชดเชย หรือลดขนาดการซื้อเนื้อหมูลงจากเดิมซื้อเป็นกิโล ให้ลดลงเหลือครึ่งกิโล เพื่อเป็นการช่วยเหลือพ่อค้าแม้ค้าด้วย