1,867 องค์กรเครือข่ายฯ คัดค้านร่างกม.คุม NGO ชี้จำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุม
1,867 องค์กรเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายฯ ผนึกกำลังคัดค้านร่างกม.ควบคุม NGO ของรัฐบาล โดยออกแถลงการณ์ในหัวข้อ “ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มทางสังคม เพื่อร่วมกำหนดอนาคตของตนเองในการพัฒนาประเทศ" พร้อมประกาศคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างถึงที่สุด
เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน จำนวน 1,867 องค์กร ได้รวมตัวกันคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ หรือในชื่อ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... ที่รัฐบาลเพิ่งให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อวันที่อังคารที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยกลุ่มเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ในหัวข้อ “ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มทางสังคม เพื่อร่วมกำหนดอนาคตของตนเองในการพัฒนาประเทศ" พร้อมชี้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวของรัฐบาล มีเจตนาและเนื้อหาต้องการควบคุม กำกับ และเข้าข่ายคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชนในทุกรูปแบบ โดยอ้างเหตุผลต้องการจัดระบบกลุ่มองค์กรทางสังคมในประเทศให้มีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
การเสนอ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรและองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขาดธรรมาภิบาล ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีเถยจิตแอบแฝง มีความเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน จึงต้องควบคุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนทั่วประเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีต่อเหตุผลที่เครือข่ายภาคประชาชนพยายามนำเสนอ เพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนความคิดในการตรากฎหมายฉบับดังกล่าว
ด้วยเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การชุมนุมสาธารณะ การแสดงออก และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต โดยเฉพาะอำนาจข้าราชการในการใช้ดุลพินิจว่ากิจการใดขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อความมั่นคงของรัฐได้ตามอำเภอใจ มีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้มีการกระทำนั้น ๆ ได้ โดยไม่สามารถฟ้องร้องศาลปกครองได้
สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบัน ทั้งยังระบุในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ที่สามารถกำหนดทิศทางและนโยบายสาธารณะอย่างมีเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งต้องมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่ปลอดจากความกลัว ปลอดจากความหิวโหย และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันถือเป็นการสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมในการจัดสรรทรัพยากรของสังคมอย่างสมดุล เท่าเทียมและเป็นธรรม
เป็นที่ประจักษ์ว่า ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. มีเจตนาและเนื้อหาต้องการควบคุม กำกับ และเข้าข่ายคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชนในทุกรูปแบบ โดยอ้างเหตุผลว่าต้องการจัดระบบกลุ่มองค์กรทางสังคมในประเทศให้มีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น ทั้งที่ในความจริงแล้วปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อสาธารณประโยชน์อยู่แล้ว ทั้งองค์กรในรูปแบบจัดตั้งเป็นมูลนิธิ สมาคม และองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้จดทะเบียนต่าง ๆ เช่น การรวมตัวรวมกลุ่มของชุมชน ประชาชน ที่ทำงานเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรภายใต้กฎหมายเฉพาะต่าง ๆ องค์กรเหล่านี้ก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเสมอมา
ดังนั้น ความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ กำลังส่อเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์และกำลังใช้ระบบราชการอำนาจนิยมแบบเผด็จการทหาร ในการกำกับ ควบคุมภาคประชาชนให้ดำเนินกิจกรรมอยู่ภายใต้การรวมศูนย์อำนาจของตนเองเท่านั้น อันเป็นภัยคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชน มากกว่ามองเห็นเป็นหุ้นส่วน ซึ่งเป็นปฏิปักษ์และบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง และขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ขอยืนยันว่าพวกเราไม่ได้ปฏิเสธการถูกตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส แต่เราไม่ยอมรับและขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างถึงที่สุด จนกว่าจะมีการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามเหตุผลที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ทั้งนี้จะมีการนัดหมายองค์กร/เครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศที่ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันแล้ว 1,800 กว่าองค์กร ให้ออกมาคัดค้านรัฐบาลในเรื่องนี้ ก่อนที่จะมีการนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป โอกาสนี้จึงขอเรียกร้องไปยังกลุ่ม/องค์กร ภาคี/เครือข่ายภาคประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ได้ออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ร่วมกับพวกเราโดยพร้อมเพรียงกัน
ทั้งนี้ การรวมตัวกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านต่าง ๆ ได้แก่ เครือข่ายองค์กรผู้สูงอายุ เครือข่ายองค์กรคนพิการ เครือข่ายด้านเด็กและครอบครัว เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายองค์กรผู้หญิง เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนเมือง/สลัมสี่ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานในระบบ เครือข่ายด้านสุขภาพ เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน/ความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เครือข่ายสิทธิมนุษยชน/ประชาธิปไตย เครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายนักวิชาการด้านสังคม และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) จำนวน 1,867 องค์กร
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 65 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการยก ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ของ คณะกรรมการกฤษฎีกา และมอบหมายให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับร่าง พ.ร.บ.ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย ตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมิน ผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป โดยมุ่งเน้นส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร ให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินกิจการที่ให้เป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งมีการกำหนดกลไกการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น ไม่ให้เป็นภาระแก่องค์กรไม่แสวงหากำไร ขณะเดียวกันก็ให้ความคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ รักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อบและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ฯ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญด้วย
สาระสำคัญ “ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....” อาทิ กำหนดบทนิยาม “องค์กรไม่แสวงหากำไร” หมายความว่า คณะบุคคลภาคเอกชน ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใด ๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงาน เพื่อจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจกรรม เป็นการเฉพาะคราว หรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ ของคณะบุคคลนั้น หรือพรรคการเมือง โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้ ทั้งนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ ต้องอยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ. นี้ด้วย
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร” ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็น ประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กร ไม่แสวงหากำไร เช่น เสนอแนะต่อ ครม. เรื่องสิทธิประโยชน์ ทางภาษีให้แก่องค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้สนับสนุน กำหนดสิทธิประโยชน์ขององค์กรไม่แสวงหากำไร โดยให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนและให้องค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้สนับสนุนองค์กรไม่แสวงหากำไร อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ขณะเดียวกัน กำหนดให้องค์กรฯ ไม่แสวงหากำไร ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น ชื่อ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการดำเนินการ แหล่งที่มาของเงินทุน และรายชื่อผู้รับผิดชอบ และห้ามไม่ให้ดำเนินงานที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การดำเนินงานที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม หากได้รับเงินจาก ต่างประเทศต้องแจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคาร ที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนำเงิน ไปใช้จ่าย ต่อนายทะเบียน ต้องรับเงินผ่านบัญชีของธนาคาร ที่แจ้งไว้ต่อนายทะเบียน ต้องใช้เงินเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียน และต้องไม่ใช้เงินเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะ การแสวงหาอำนาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละรอบปีปฏิทิน และเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าว โดยต้องเก็บรักษา บัญชีรายรับรายจ่ายนั้นไว้ให้สามารถตรวจสอบได้เป็นเวลา 3 ปี
รวมทั้งยังกำหนดมาตรการบังคับและโทษ โดย กำหนดให้ในกรณีที่องค์กรไม่แสวงหากำไรไม่ดำเนินการ หากฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว อาจถูกสั่งให้หยุด การดำเนินกิจกรรมหรือยุติการดำเนินงานได้ และกำหนดโทษปรับทางอาญาสำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไร และผู้รับผิดชอบ หากไม่หยุดการดำเนินกิจกรรมหรือยุติ การดำเนินงานหลังจากได้รับคำสั่งด้วย