"ดีเอสไอ" แนะอย่าทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แนะ 3 วิธีป้องกันภัย"แก๊งคอลเซ็นเตอร์" เน้นย้ำอย่าทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์ แต่หากตกเป็นเหยื่อแล้ว ให้รีบประสานธนาคารปลายทางที่โอนเงิน เพื่อหาร่องรอยเบาะแส
จากกรณีมีประชาชนจำนวนมาก เข้าร้องเรียนต่อ"สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" และ"กรมสอบสวนคดีพิเศษ" หรือ ดีเอสไอ ว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีเบอร์โทรศัพท์จากหน่วยงานรัฐ โทรเข้ามาหา หรือส่งข้อความเข้ามาหา ระบุว่ามีส่วนพัวพันกับ"คดีอาญา"ต่างๆ และต้องทำ"ธุรกรรมทางการเงิน" โดยการจ่ายค่าปรับต่างๆ จนทำให้มีสูญเสียเงินจำนวนมากนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ม.ค.65 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ "ดีเอสไอ" เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีประชาชนร้องเรียนเข้ามายัง"กรมสอบสวนคดีพิเศษ" จำนวนกว่า 60 ราย ว่าถูกหลอกลวงลักษณะดังกล่าว ซึ่ง"ดีเอสไอ"ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่าเป็นการกระทำของแก๊ง"คอลเซ็นเตอร์"จึงอยากขอเรียนพี่น้องประชาชนให้ป้องกันเรื่องดังกล่าวว่า
1."ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ติดต่อให้ประชาชนทำธุรกรรมทางการเงิน ผ่านช่องทางโทรศัพท์" หากเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่จริง จะต้องมีหนังสือราชการเพื่อติดต่อ และนัดหมาย ณ สถานที่ราชการเท่านั้น
2.หากมีคนร้ายโทรศัพท์หาท่าน ให้"พยายามขอข้อมูลในการติดต่อกลับ"และอย่าได้ทำธุรกรรมใดๆทั้งสิ้น โดยให้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งความพนักงานสอบสวน เพื่อเป็นเบาะแสในการดำเนินคดีกับคนร้าย
3.กรณีตกเป็นเหยื่อหลงโอนเงินให้คนร้าย ให้รีบแจ้งความดำเนินคดีทันที และ"ประสานธนาคารปลายทางที่โอนเงิน" เพื่อติดตามร่องรอยทางการเงินต่อไป
ทั้งนี้การกระทำที่กล่าวมา เบื้องต้นเป็นความผิดฐาน"ฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น" ตามประมาวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 วรรคสอง มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 7 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท จนถึง 140,000 บาท