ข่าว

วันเด็ก "ลุงตู่" พาเด็กและเยาวชนนั่งเก้าอี้นายกฯ สร้างแรงบันดาลใจ

วันเด็ก "ลุงตู่" พาเด็กและเยาวชนนั่งเก้าอี้นายกฯ สร้างแรงบันดาลใจ

08 ม.ค. 2565

"นายกฯ ลุงตู่" เปิดตึกไทยคู่ฟ้า เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปี 65 พาเด็กและเยาวชนนั่งเก้าอี้นายกฯ สร้างแรงบันดาลใจ ร่วมพบปะพูดคุยตัวแทนเยาวชนดีเด่นรับฟังข้อเสนอแนะจากคนรุ่นใหม่

วันนี้(8 ม.ค.) ในรายการกิจกรรมงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2565 ทำเนียบรัฐบาล ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พาตัวแทนเด็กเยาวชน 5 คน นั่ง"เก้าอี้นายกรัฐมนตรี" ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กและเยาวชนในอนาคต พร้อมทั้งได้นั่งพูดคุยกับเด็กเยาวชนถึงความสนใจในด้านต่าง ๆ และความใฝ่ฝันถึงอาชีพที่อยากทำในอนาคต

วันเด็ก \"ลุงตู่\" พาเด็กและเยาวชนนั่งเก้าอี้นายกฯ สร้างแรงบันดาลใจ

ได้แก่ ด.ญ.เพชร เพชรทอง อยากเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียง ด.ญ.มลธนัช เผื่อนประเสริฐสุข ที่ชื่นชอบกีฬายิงปืน ด.ญ. ภูวริศา อมาตยกุล อยากเป็นนักธุรกิจ นายปุณณานนท์ ตรีวรรณกุล ที่อยากนำผ้าไทย วัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ให้เป็น International

วันเด็ก \"ลุงตู่\" พาเด็กและเยาวชนนั่งเก้าอี้นายกฯ สร้างแรงบันดาลใจ

"นายกรัฐมนตรี" ยังชื่นชมความสามารถในการคิดเลขของ ด.ช.ปองคุณ บุญเกตุ พร้อมอวยพรขอให้เรียนวิชาที่ชอบอย่างสนุก ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และขอให้ทุกคนมีความฝันมีความตั้งใจในสิ่งที่อยากทำ ตั้งเป้าอนาคตของตนเอง ค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบเพราะอาจมีหลากหลายด้าน ขอให้มีความกตัญญูรู้คุณต่อบิดา มารดา เพื่อที่ได้เป็นหนึ่งในพลังการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าด้วยกัน

จากนั้น ณ ตึกภักดีบดินทร์ "นายกรัฐมนตรี" ได้ร่วมพบปะและพูดคุยกับตัวแทนเด็กนักเรียนเยาวชนดีเด่นจากหลายสถานศึกษา อาทิ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่มีความประพฤติดีและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติในด้านวิชาการ ด้านศิลปวัฒนธรรมและการกีฬารวม 19 คน

 

โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดศึกษาธิการ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย 

 

โดย "นายกรัฐมนตรี" กล่าวว่า ยินดีที่ได้พบกับลูกหลานทุกคน ซึ่งการพบปะในครั้งนี้เป็นการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่า คนรุ่นกลาง และคนรุ่นใหม่ แต่เราก็เป็นคนยุคเดียวกัน และขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของทุกคนที่ได้เป็นตัวแทนของเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติของเรา รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่อุทิศต่อการทำงานเพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวม ดังคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปีนี้ว่า รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหมายถึง คิดจะทำอะไรก็ต้องรอบคอบ

 

 


และที่สำคัญที่สุดนอกจากตัวเราและครอบครัวแล้ว ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะเราคือส่วนหนึ่งของประเทศไทย ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แผ่นดิน ผืนน้ำ ป่าไม้ ภูเขา ทั้งนี้ ความสำเร็จต่าง ๆ ของทุกคนก็เป็นเครื่องยืนยันว่าคนไทยเราไม่น้อยหน้าไปกว่าใคร

 

จากสถิติการไปแข่งขันหลายประเภทก็ได้รับรางวัลในหลายสาขา ซึ่ง"นายกรัฐมนตรี"เชื่อมั่นว่าทุกคนจะสร้างชื่อเสียง สร้างอนาคตให้กับประเทศไทยในเรื่องของการพัฒนา ความก้าวหน้า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็ยินดีที่จะสนับสนุนทุกกิจกรรมของเยาวชนไทยให้เป็นคนเก่ง มีคุณธรรม และมีจริยธรรม พร้อมยินดีที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำงานของรัฐบาล เพื่อจะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศของเราไปในทางที่ดีขึ้น

 

หน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย ความมีเสถียรภาพ การเคารพกฎหมาย และยึดถือ ยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขอให้ทุกคนต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนานด้วย

 

นางสาวณัฐนรี ศรีอภิรัฐ ตัวแทนเยาวชนจากวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน กล่าวถึงการอยากศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยแต่ยังมีบางคณะ บางสาขา และหลายมหาวิทยาลัยของรัฐ กำหนดคุณสมบัติไม่รับวุฒิ ปวช. จึงอยากขอให้เปิดโอกาสนักเรียนวุฒิ ปวช. ได้ทำตามความฝัน ได้มีสิทธิ์ ได้สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย

 

โดย "นายกรัฐมนตรี" กล่าวว่า ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ปัจจุบันที่นั่งของมหาวิทยาลัยมีมากกว่านักเรียนที่เข้าสอบ แปลว่ามหาวิทยาลัยยังรองรับได้อยู่เพราะเด็ก ปวช. ทุกคนเทียบเท่า ม.6 อยู่แล้ว อาจให้มีการลองไปปรับสาขาหรือระบบว่าต้องรองรับอย่างไร สิ่งที่มีอยู่แล้วเดิมคือหน่วยกิตที่ให้ตรงกับสาขาการรับตรง หรือถ้าเป็นระบบสอบก็ให้เป็นการสอบที่ใช้ข้อเขียนเป็นหลัก เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลคือให้ทุกคนสามารถเรียนอะไรก็ได้ ขอฝากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปดูระเบียบต่าง ๆ ด้วย
 

นางสาวลิตา ตันติประภาส ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวถึงกรณีปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน ที่มีปัญหาจากความเครียดและการเข้าสังคมและอยากให้ "นายกรัฐมนตรี" ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตในแต่ละโรงเรียน

 

โอกาสนี้ "นายกรัฐมนตรี" กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ส่งผลให้มีการบ้านเยอะ พักผ่อนน้อย ซึ่งได้ให้มีการปรับกระบวนการการสอบวัดผลไปบ้างแล้ว และมุ่งเน้นการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จัดการเรียนการสอนแบบ On Demand ทบทวนกลุ่มสาระวิชา ให้เด็กสามารถเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำให้ประสานสอดคล้องกันตั้งแต่เด็กประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา

 

ทั้งนี้ "นายกรัฐมนตรี" ยังแนะให้กระทรวงศึกษาธิการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มีการเข้ามาพูดคุยกับเด็ก ๆ เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาความเครียด โรคซึมเศร้า อีกด้วย

 

นายวัตร แสงหงส์ ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรม กล่าวขอให้ "นายกรัฐมนตรี" ช่วยผลักดันระบบอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ต้องกลับไปเรียนออนไลน์

 

โดย "นายกฯ" กล่าวว่า รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ปรับหลักสูตรพัฒนาครูให้สามารถเรียนออนไลน์ได้ รวมถึงมอบหมายให้ กสทช. ดูแลในด้านค่าใช้จ่ายตามงบประมาณ และขอให้นักเรียนทุกคนมีสมาธิเมื่อเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน คอยปรึกษาเพื่อน หรือการเรียนรู้ในชุมชนด้วยกัน
 

 น.ส. อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน กล่าวถึงความสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมภูมิอากาศและอยากให้การศึกษาในระบบที่สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับ Climate Change เข้าไปในแต่ละวิชาและเน้นการลงมือทำในการศึกษานอกระบบ ลงมือแก้ไขแบบ Project-based พร้อมส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยและอยากให้ภาครัฐและประชาชนร่วมกันสร้างสังคม Zero Wasteไปด้วยกัน

 

"นายกรัฐมนตรี " กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญเพราะคืออนาคตของลูกหลานพวกเรา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุม COP26 มา และได้จัดทำแผนแม่บทไว้แล้ว โดยได้กำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม และในเรื่องของการเรียนรู้ ต้องมีเรียนรู้นอกจากตำราหรือ Active Learning คือไปศึกษาเรียนรู้แล้วปฏิบัติจริง สิ่งสำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ชุมชนของตัวเอง รู้จักบ้านตัวเอง รู้จักตำบล อำเภอ ชุมชน หมู่บ้านตัวเอง
 

นางสาวพัทธ์ธีญา ยงค์สงวนชัย ตัวแทนเยาวชนจากโรงเรียนนานาชาติไทยจีน กราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น แล้วก็จะส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม โดยยังมีโรงงานหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบทางลบต่อประชาชน ทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจสังคม อยากให้ชาวบ้านได้รับการเยียวยาและธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู

 

ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลได้มีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องเริ่มจากตัวเราทุกคน ควรเริ่มต้นโดยการให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ "นายกรัฐมนตรี"ได้ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นการใช้ถ่านหินแต่ปัจจุบันถ่านหินลดลงต้องมีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ เครื่องจักร ปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงานที่เหมาะสม มุ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และดำเนินการเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้วัสดุทางการเกษตรเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เพื่อกำจัดวัชพืช และปลูกพืชที่สามารถเป็นพลังงานได้ รวมถึงปรับเปลี่ยนการทำเกษตรไปด้วยเช่นกัน
 

นางสาวอภิญญา เจียมศักดิ์ ตัวแทนเยาวชนจากโครงการเด็กอวด (ทำ) ดี ได้สรุปโครงการจิตอาสาที่เด็กและเยาวชนได้ร่วมกันทำในทำนองเพลงพื้นบ้านโบราณของไทยเพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้รับฟัง
 

 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีแนะให้เด็กและเยาวชนค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมโดยการอ่านหนังสือ แสวงหาความรู้จากการปฏิบัติจริงในสังคม ขอให้ทุกคนรักประเทศไทย นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบปะและรับฟังความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ และคอยติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่านทางโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ