เพื่อไทยแฉนักศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ เข้าไม่ถึงเงินกู้ยืม กยศ.
เพื่อไทยเปิดพื้นที่รับฟังเด็ก-เยาวชน สะท้อนปัญหาการศึกษา พบนักศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไม่ถูกพิจารณาให้เข้าถึงการกู้ยืมเงิน กยศ. รวมทั้งการบังคับต้องเก็บชั่วโมงจิตอาสาให้ครบ จึงจะกู้ได้ขณะที่โครงสร้างภาครัฐสร้างภาระเด็กไทยสารพัด วอนหยุดกดเด็กไม่ให้ฉลาด
ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย และทีมนโยบายการศึกษาพรรคเพื่อไทย เปิดรับฟังปัญหาการศึกษาผ่านระบบซูม เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษา สะท้อนปัญหาการศึกษาที่ต้องเจอตลอด 3 ปี ของการเรียนออนไลน์จากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งการรับฟังเป็นเป็น 3 กลุ่ม ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับมหาวิทยาลัย โดยมีนายวันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย คณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร และนางสาวชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายพริษฐ์ รัตนพงศ์ไพศาล ผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ KIS และทีมนโยบายการศึกษาพรรคเพื่อไทย โดยมีตัวแทนนักเรียนและนักศึกษาให้ความสนใจสะท้อนปัญหาจำนวนมาก
ดร.อรุณี กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาไทยที่กำลังตกต่ำในภาพรวมตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจและไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นฐานรากของการพัฒนาประเทศ นักเรียนทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายต่างสะท้อนปัญหาเหมือนกันว่า การเรียนออนไลน์ ที่ผ่านมาเป็นภาระที่นักเรียนและนักศึกษาต้องแบกรับด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย อุปกรณ์การเรียน ค่าเทอม รัฐบาลและ กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ชดเชยเยียวยาใด ๆ ในช่วง 2 ปีแรก ทำให้เด็กหลายคนหลุดจากระบบการศึกษาเพราะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ส่งผลต่อการสอบเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 และมหาวิทยาลัย เด็กในครอบครัวที่ยากจนหลายครอบครัวถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลายคนที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะไม่มีรายงานการทำกิจกรรมสะสมเพียงพอที่จะยื่นให้มหาวิทยาลัยได้ จึงอยากให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พิจารณาทบทวนทั้งค่าสอบ TCAS และยกเว้นเกณฑ์การนำกิจกรรมมาพิจารณาสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย
ดร.อรุณี กล่าวต่อว่า การเปิดรับฟังปัญหาการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้น ในวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา นักศึกษาได้สะท้อนเรื่องการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ "กยศ." ที่มีการโอนเงินล่าช้า และยังพบว่านักศึกษา "กลุ่มชาติพันธุ์" ไม่ถูกพิจารณาให้เข้าถึงการกู้ยืมเงินจาก "กยศ." ด้วย รวมถึงการบังคับต้องเก็บชั่วโมงจิตอาสาให้ครบ จึงจะกู้ยืมได้ และกิจกรรมบางอย่างไม่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียน นอกจากนี้ ยังพบว่านักศึกษาถูกจำกัดการแสดงออกทางการเมือง และมหาวิทยาลัยไม่สนับสนุนงบประมาณการจัดกิจกรรมของนักศึกษา รวมทั้ง อยากมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งอธิการบดี โดยควรมาจากสิทธิและเสียงของนักศึกษาอย่างแท้จริง
“เสียงสะท้อนของปัญหาคือข้อเท็จจริงที่รัฐบาลเมินเฉย การพัฒนาชาติต้องเริ่มที่การพัฒนาคน การพัฒนาคนเริ่มจากการพัฒนาการศึกษา ไม่มีผู้นำประเทศใดที่ไม่อยากให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า มีเพียงผู้นำที่มาจากเผด็จการเท่านั้นที่ไม่ต้องการให้ประชาชนฉลาด” ดร.อรุณี กล่าว