ชำแหละ หมูแพง จับรัฐขึ้นเขียง ผ่าพิสูจน์"โรคอหิวาต์ฯหมู ASF "เป็นอย่างไรแน่
ชำแหละปัญหา"หมูแพง" ดูท่าไม่ใช่เรื่องหมูๆ ที่รัฐบาลแก้ไขให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะกับต้นตอสาเหตุสำคัญ "โรคระบาด"อหิวาต์แอฟริกาในสุกร" หรือ โรค ASF เป็นอย่างไรกันแน่ รู้มั้ยโรคนี้ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เหมือนโควิด
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นปัญหา"หมูแพง"ถูกนำมาขึ้นเขียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา "หมูแพง หมูขาดตลาด" เป็นการเร่งด่วน เวลาต่อมาบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า เป็นกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เรียกประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ผลการหารือที่ถูกนำมาแถลงได้กล่าวถึงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ หมูแพง คือ การแพร่ระบาดของ"โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ โรค ASF "จากประเทศเพื่อนบ้าน
ขอย้ำ มีการระบุว่า "การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF) จากประเทศเพื่อนบ้าน"
เช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 ม.ค.65 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ออกมายืนยันไม่มีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบาดในประเทศไทย แต่พบในประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดส่งเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่เร่งตรวจสอบเพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคระบาดในสุกร แก้ปัญหาราคาหมูแพง
"ในปัจจุบันมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเมียนมา ซึ่งยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ" อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว เมื่อวันที่ 8 ม.ค.65
เห็นได้ว่า ประเด็นโรคระบาดในหมู หรือ "โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ( ASF)" ผู้เกี่ยวข้องทางภาครัฐบาล ออกมาเล่นบทคีย์เดียวกันว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย ซึ่งก็ดูจะสวนทางกับกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหมูที่ออกมาให้ข้อมูลผ่านรายการ "คมชัดลึก" มีการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ โรค AFS ในไทยแล้วพร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลออกมายอมรับความจริง
จึงเป็นข้อชวนฉงนสงสัยอย่างยิ่ง ตกลง โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ โรค ASF ระบาดแล้วหรือยังไม่ระบาด
เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้รายงานโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือ โรคASF ไว้ดังนี้
โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เกิดขึ้นมากกว่า 50 ประเทศ ใน 3 ทวีป คือ แอฟริกา ยุโรป และเอเชีย โดยพบการระบาดหลายคร้ังในทวีปแอฟริการะหว่างปีพ.ศ. 2503-2513 ในปีพ.ศ. 2550 เกิดการระบาด
ของโรคไปสู่ประเทศจอร์เจียและประเทศใกล้เคียง เช่น สหพันธรัฐรัสเซีย การระบาดของโรคในยุโรปตะวันออก เป็นสาเหตุของการแพร่กระจายของไวรัสไปยังสหภาพยุโรปในปีพ.ศ. 2557 ทำให้เกิดการระบาดของโรคในสุกรเลี้ยงและสุกรป่าทั่วทวีปยุโรป
ต่อมาในปีพ.ศ. 2561 พบการรายงานโรคครั้งแรก ในสาธารณรัฐ
ประชาชนจีน ซึ่งเป็นการแพร่กระจายของไวรัสมาสู่ทวีปเอเชีย
วิทยาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีความซับซ้อนและมีรูปแบบของการระบาดที่หลากหลายในทวีปแอฟริกาและยุโรปการแพร่กระจายโรคเกิดจากสุกรเลี้ยง สุกรป่า และมีเห็บอ่อน (Ornithodoros spp.) เป็นพาหะ (biological vector)
อาการของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแบ่งออกเป็นกลุ่มเฉียบพลันรุนแรง (peracute) เฉียบพลัน (acute)เรื้อรัง (chronic) และไม่แสดงอาการ (subclinical)
"ไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร" มีระยะฟักตัวนาน 4-19 วัน ไวรัสสายพันธุ์รุนแรงทำให้เกิดโรคแบบเฉียบพลัน
รุนแรงและเฉียบพลัน สุกรติดเชื้อจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร เกิดจุดเลือดออกที่ผิวหนังและอวัยวะภายใน และตายภายใน 4-10 วัน หรืออาจตายก่อนแสดงอาการป่วย โดยพบอัตราการป่วยตายสูงถึง 100%
หากไวรัสมีความรุนแรงปานกลางอาจทำให้สุกรแสดงอาการป่วยเล็กน้อย เช่น มีไข้ซึมเบื่ออาหาร สุกรที่ติดเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงต่ำ จะไม่แสดงอาการป่วยแต่พบแอนติบอดีในซีรัมได้การติดเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรง
ปานกลางและรุนแรงต่ำอาจทำให้เข้าใจว่าสุกรเหล่านี้ป่วยจากสาเหตุอื่นๆ และไม่สามารถแยกโรคนี้จากโรคอื่นๆ จากอาการป่วยหรือการชันสูตรซาก เช่น โรคอหิวาต์สุกร (classical swine fever) โรคพีอาร์อาร์เอส(porcine reproductive and respiratory syndrome; PRRS) และโรคติดเชื้อแบคทีเรีย จึงต้องทำการจำแนกโรคด้วยวิธีชันสูตรโรคทางห้องปฏบัตการ เช่น การเพาะแยกไวรัส หรือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า "โรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือ โรคASF" เริ่มระบาดรอบบ้านไทยมานานกว่า 3 ปีแล้ว กระจายไปในหลายประเทศทั้งยุโรป เอเชีย
ช่างน่าสร้างอัศจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อปี 2563 กระทรวงเกษตร ฯออกประกาศว่า ประเทศไทยประเทศเดียวในอาเซียน ที่ไม่พบการระบาดอหิวาต์แอฟริกาในหมู ถึงกับมีการจัดพิธีมอบรางวัลกันอย่างเอิกเกริกให้กลุ่มเกษตรกรที่ควบคุมป้องกันดูแลสุกรได้เป็นอย่างดี
เอาหล่ะ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ได้มีการประกาศเป็นโรคระบาด ถึงขั้นกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ขณะที่ กระทรวงเกษตรได้มีการประกาศห้ามนำเข้าสุกร จากประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่มีการระบาดใหม่ๆลงในราชกิจจานุเบกษาเช่นกัน
โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ โรค ASF เป็นอย่างไรกันแน่
เมื่อปลายปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข ของไทย ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง รายการเชื้อโรค ที่ประสงค์ควบคุมตามมาตรา 18 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ซึ่งมีการปรับเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู จากเชื้อโรคกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ 3
ครั้งนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ สมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง รายการเชื้อโรค ที่ประสงค์ควบคุมตามมาตรา 18 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ซึ่งมีการปรับเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู จากเชื้อโรคกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ 3 ว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 และมีผลบังคับใช้แล้ว
โดยที่ต้องยกระดับเนื่องจาก "โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร" หากระบาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบ โดยมีการรายงานการระบาดโรคในหลายประเทศ แต่ยืนยันว่า ยังไม่มีการระบาดในไทย โดยโรคนี้เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกร มีหมูป่าเป็นแหล่งรังโรคและมีเห็บอ่อนเป็นพาหะ
"แม้โรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ หากมีการระบาดในประเทศจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ขณะที่เชื้อไวรัสก่อโรคมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูง และสามารถปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำมาจากเนื้อสุกร โรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก โดยทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราป่วยและตายเกือบ 100% หลายประเทศได้เพิ่มความเข้มงวดและวางมาตรการรับมือกับโรคนี้ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ความสำคัญด้วยการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้านชีวภาพ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีโอกาสหลุดลอดเข้ามาในประเทศไทย โดยที่ประชุมคณะกรรมการเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ภายใต้ พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศเพิ่มความเข้มงวดในการครอบครองเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยแก้ไขระดับความเสี่ยงและความอันตรายของเชื้อโรคดังกล่าวในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ยกเชื้อดังกลาวจากเชื้อโรคกลุ่มที่ 2 เป็นเชื้อโรคกลุ่มที่ 3 ที่ต้องขออนุญาตในการดำเนินการผลิต ขาย มีไว้ในครอบครอง นำเข้า ส่งออก และนำผ่านทุกครั้ง และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำกัดการครอบครองเชื้อ โดยกำหนดให้ดำเนินการได้เฉพาะในห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ กรณีหน่วยงานอื่นที่ประสงค์จะดำเนินการเกี่ยวกับเชื้อนี้ ให้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ โดยคำแนะนำของกรมปศุสัตว์
ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลย้ำว่า "โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ไม่ติดต่อสู่คน ซึ่งปศุสัตว์จะมีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเข้ามา"
"ส่วนเรื่องของคน แม้จะไม่ติดต่อสู่คนก็ไม่ให้ประมาท และไม่แนะนำให้กินเนื้อหมูป่วยหรือตายไม่รู้สาเหตุ เพราะในเนื้อสัตว์ไม่ได้มีแค่เชื้อดังกล่าวอย่างเดียว ยังมีเชื้ออื่นๆ ด้วย เช่น เชื้อโรคไข้หูดับ ฯลฯ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคืออย่ากินหมูที่ไม่รู้แหล่งที่มา ซึ่งในต่างจังหวัดบางครั้งหมูตายแล้วมักง่าย เอาไปชำแหละขายราคาถูก บางทีหมูที่ตัวเองเลี้ยงไว้ตาย เสียดาย ไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นโรคอะไร ก็เอามากิน ก็จะป่วยตั้งแต่คนชำแหละและคนที่อาจไปกิน สำหรับคนที่จะกินเนื้อหมูดิบ ก็ต้องรู้แหล่งว่าปลอดภัยจริง เช่น มีการเลี้ยงอย่างปลอดภัยมากที่สุด"
นี่หล่ะคือที่มาที่ไป "โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร" เรื่องราวดำเนินผ่านมาจนถึงปัจจุบัน"ปี 2565" สถานการณ์หมูราคาแพง กำลังเป็นประเด็นให้ประชาชนดึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเขียงผ่าพิสูจน์กันอีกครั้ง เพราะเหตุใดหน่วยงานราชการ รัฐบาลยังไม่ยืนยันมีการแพร่ระบาด อหิวาต์แอฟริกาหมู ในประเทศไทย!!!