3 คำถามกับ "ซีอีโออักษรฯ" ผู้พยายามเปลี่ยน ฉากทัศน์การศึกษาใหม่
ตะวัน เทวอักษร "ซีอีโออักษรฯ" กับโจทย์ท้าทาย พลิกโฉมการเรียนรู้ มุ่งสู่การเรียนแบบผสมผสาน เดินหน้าพัฒนาดิจิทัจแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 85,000 คน วาดหวังเปลี่ยน ฉากทัศน์การศึกษาใหม่
เพิ่งผ่านปีใหม่มาไม่กี่วัน แต่การศึกษายังไม่อาจหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่มีตัวแปรสำคัญอย่างโควิด-19 ได้ ในปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเราสู้อย่างหนัก ภาครัฐก็พยายามออกนโยบายช่วยเหลือ จากสถิติของปี 2565 มีการคาดการณ์ถึงความเสี่ยงของเด็กที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 1.9 ล้านคน และพบว่ามีเด็กกว่า 43,000 คนที่ยังไม่กลับเข้ามาเรียนต่อ ความหวังอยู่ที่การปรับตัวในการเรียนรู้โดยพยายามไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันนี้ “คมชัดลึกออนไลน์” มาพูดคุยกับ นายตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) "ซีอีโออักษรฯ" ถึงการบูรณาการการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบเรียนออนไลน์และเรียนออนไซต์ กับแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ พร้อมมุมมองถึงการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไรในยุคโควิด-19
ถาม : เจาะทิศทางดิจิทัจแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาของอักษรในปี 2565
ซีอีโออักษรฯ : เรามีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการศึกษาในหลายรูปแบบมาโดยตลอด ดิจิทัจแพลตฟอร์มถือเป็นอีกหนึ่ง Paradigm ใหม่สำหรับภาคการศึกษาไทยที่เปิดโอกาสให้ครูและเด็กไทยได้ทดลองใช้มันอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาอักษรเราทำงานหนักมากในช่วงของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอน เพื่อตอบสนองกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ในระยะแรกเราต้องการให้ครูสามารถดำเนินการเรียนการสอนได้แม้โรงเรียนจะหยุดแต่กระบวนการเรียนรู้ต้องไม่หยุด เราจึงออกแบบดิจิทัจแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ภายใต้ชื่อ Aksorn On-Learn ขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นแพลตฟอร์มที่เราเอาเนื้อหามาผนวกเข้ากับกระบวนการเรียนรู้แล้วเสิร์ฟให้ครูและเด็กในรูปแบบใหม่
ซึ่งในช่วงแรกเราแบ่งเนื้อหาหลัก ๆ ออกเป็น 2 ส่วน คือ คลิปวิดีโอ และ e-Book แล้วนำเอาสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มเข้าไป เช่น แอนิเมชัน สื่อ Interactive 3D ไฟล์เสียง สไลด์ประกอบการสอน สิ่งเหล่านี้ทำให้ครูยังสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันกับนักเรียนได้ แม้รูปแบบของห้องเรียนจะเปลี่ยนไปแต่ยังคงมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งในตอนนี้มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 85,000 คน
จากนั้นเราจึงนำมาคิดต่อว่า ทั้งหมดนี้เราไม่ได้ทำเพียงเพื่อตอบสนองสถานการณ์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น แต่สิ่งที่เราทำมันคือการสร้างฉากทัศน์ใหม่ของการศึกษา สถานการณ์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลายอย่างของผู้บริโภคไปพฤติกรรมการเรียนรู้ของครูและเด็กไทยเองก็เช่นกัน
หลังจากการเปิดตัว Aksorn On-Learn ในครั้งแรกเราได้มีการทำการวิจัย ออกแบบ และลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อต่อยอดจากสิ่งที่เราทำเมื่อ 2 ปีก่อน เราพบว่าความต้องการของผู้ใช้มีความหลากหลายตามบริบทในพื้นที่ของแต่ละโรงเรียน
“แต่สิ่งที่เรายังคงยึดเอาเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบนั่นก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ครูสามารถใช้กระบวนการและเครื่องมือของเราเพื่อส่งต่อไปยังเด็ก ๆ ของเขา แล้วทำให้เด็ก ๆ เหล่านั้นกลายเป็นพลเมืองคุณภาพในอนาคตได้ เพราะสิ่งที่เราสอนเขาในวันนี้มันจะต้องสามารถทำให้เขาปรับใช้ให้ได้ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งหมดนี้คือโจทย์หลักในการทำงานของเรา”
ถาม:มุมมองการศึกษาและรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กไทยในปี2565
ซีอีโออักษรฯ : บทบาทของครูผู้สอนจะเปลี่ยนไป จากผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่บรรยายความรู้หน้าห้องเรียนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบผสมผสาน (Blended Learning) ระหว่างการใช้เทคโนโลยี ออนไลน์ และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงในห้องเรียน รูปแบบการเรียนรู้จะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่สร้างให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ ทักษะ และการประยุกต์ใช้ และจะไม่จำกัดอยู่ในห้องเรียนอีกต่อไป
ผู้เรียนจะได้ประสบการณ์ตรงจากแหล่งการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ สื่อการเรียนรู้จะทำให้ผู้เรียนมีความสุขมากขึ้น สนุกมากขึ้น เข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น วงการการศึกษาจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สร้างความสะดวก รวดเร็ว และทำให้การเข้าถึงแหล่งข้อมูลเป็นเรื่องง่ายขึ้น ครูผู้สอนสามารถขยายขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ทั้งการเรียนการสอน การวัดประเมินผล การวางแผน และการใช้ข้อมูลของผู้เรียนมากำหนดในเชิงนโยบาย
“สำหรับอักษรเรามุ่งพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ให้ครูสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกบริบทของการสอน ไม่ว่าโรงเรียนที่มีความพร้อมในเรื่องของทรัพยากรหรือโรงเรียนที่มีขนาดเล็กในจังหวัดห่างไกล เรามองว่าหลายสิ่งที่เราทำเป็นทั้งการมอบโอกาสและสร้างโอกาสไปพร้อม ๆ กัน”
แน่นอนว่าเมื่อเกิดการพัฒนาการศึกษา เรื่องของความเหลื่อมล้ำ มักจะเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงตลอด เราเองตระหนักในเรื่องนี้ดีและพยายามอุดช่องว่างตรงนั้น ดังนั้น ความหลากหลายของรูปแบบการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่คิดว่ารูปแบบใดจะสามารถมาแทนที่รูปแบบหนึ่งได้ทั้งหมด 100%
การเรียนรู้จึงต้องเป็นไปแบบผสมผสาน เพื่อให้สอดคล้องไปกับบริบทของห้องเรียนในแต่ละพื้นที่ มีการออกแบบการเรียนรู้ในรูปแบบเฉพาะบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตรงตามความสนใจและความถนัดของตนเอง
ถาม :คิดอย่างไรกับคะแนนของเด็กไทยในการสอบ PISA ที่ยังคงตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอยู่ และมุมมองในการทำให้เด็กไทยเทียบเท่ากับพลเมืองโลกได้
ซีอีโออักษรฯ : ประเทศไทยเรามีโรงเรียนที่ดีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถสร้างเด็กที่มีคุณภาพได้อยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและยังคงต้องให้การส่งเสริมต่อไป ความท้าทายของเราก็คือยังมีโรงเรียนอีกหลายแห่งที่ยังต้องการการพัฒนา ซึ่งจากผลการประเมิน PISA ที่ผ่านมา เด็กไทยของเรามีทั้งกลุ่มที่ได้คะแนนสูง และกลุ่มที่ยังไม่อยู่ในค่าเฉลี่ย เราจำเป็นต้องเน้นให้ความสนใจไปที่กลุ่มโรงเรียนเหล่านี้ เพื่อทำให้เขาสามารถกลับมาอยู่ในค่าเฉลี่ยที่ดีได้
ทั้งหมดนี้แม้แต่โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดห่างไกลก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการให้ครูสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ จากการตั้งคำถาม Why หรือ How เปลี่ยนบทบาทของครูผู้สอนจากการเป็นจุดศูนย์กลางการเรียนรู้ให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Coach) สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากขึ้น ส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้คิดได้ วิเคราะห์เป็น และสร้างความท้าทายให้กับพวกเขา เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เกิดการใฝ่รู้ มีมุมมองต่อการเรียนรู้ในเชิงบวก และรักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต
"อีกไม่ไกลเกินเอื้อมการศึกษาจะสามารถก้าวข้ามขีดจำกัด การเรียนรู้จะกลายเป็นเรื่องของคนทุกคน โลกจะหมุนความท้าทายและผลักให้ทุกคนต้องเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิต ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง ผู้คนมีทักษะที่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ผู้เรียนรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ สภาพแวดล้อมเอื้อให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เข้าถึงการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา"
..กมลทิพย์ ใบเงิน เรียบเรียง...