ส.ส. พปชร. ชี้ "ของแพง" ผู้บริหารกระทรวงกลุ่มการเมืองเก่าแก่ไร้ศักยภาพ
ส.ส.พปชร.นครศรีฯ สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ชี้ "ของแพง" เหตุเพราะผู้บริหารกระทรวงจากกลุ่มการเมืองเก่าแก่ไร้ศักยภาพ
ดร.สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ "ราคาเนื้อหมูแพง"ขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการเกิดโรคระบาดในสุกร ที่ถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการแก้ไขมากกว่า 2 ปี จนกระทบทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยต้องขาดทุนเลิกเลี้ยงเหลือเพียงผู้เลี้ยงรายใหญ่ไม่กี่ราย
สำหรับผลกระทบดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ด้านกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรงกลับเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุทั้งโครงการเนื้อหมูราคาถูก และไล่ตรวจฟาร์มสุกร ทั้งที่อาจทราบข้อมูลการระบาดของโรคมากกว่า 2 ปีแล้ว
ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐซึ่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ได้ใช้กลไกการบริหารผ่านกระทรวงการคลัง โดยใช้นโยบายลดค่าครองชีพให้กับประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านโครงการคนละครึ่งทั้ง 3 ระยะ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศเกินกว่า 2.23 แสนล้านบาท โดยรัฐได้ช่วยเหลือประชาชนลดค่าครองชีพผ่านการใช้จ่ายในโครงการถึงกว่า 1.09 แสนล้านบาท
ด้านกระทรวงแรงงานได้ช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤตโควิด-19 ผ่านสำนักงานประกันสังคม เป็นเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และม.40 ใน 29 จังหวัด กว่า 12 ล้านคน เป็นเงินกว่า 8.87 หมื่นล้านบาท นายจ้างและผู้ประกอบการกว่า 165,000 ราย เป็นเงินกว่า 1.27 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกกว่า1 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่ช่วยเหลือแบ่งเบาลดภาระของผู้ปกครองนักเรียนกว่า 11 ล้านคน เป็นงบประมาณกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท
มีกลุ่มการเมืองเก่าแก่กลุ่มหนึ่ง และผู้ต้องหาคดีอาญาออกมากล่าวอ้างถึงพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลว่าไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ และไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ต้องชี้แจงว่าที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐ ได้ประนีประนอม ให้โอกาส และความเชื่อมั่นในการบริหารกระทรวงที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจประเทศกับกลุ่มพรรคการเมืองนี้
แต่กลับพบความล้มเหลวทางการบริหาร ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย ใช้กลไกที่เอื้อต่อนายทุนรายใหญ่ เช่น กรณี"หมูแพง" ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับประโยชน์ เพราะขาดทุนจากโรคระบาดและค่าอาหารสัตว์จนต้องเลิกเลี้ยง ที่ผ่านมาแม้จะมีการกล่าวอ้างว่าสินค้าเกษตรอย่าง ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด มีราคาสูงขึ้น แต่ความเป็นจริงเกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับประโยชน์ เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าปุ๋ยที่แพงขึ้น ทำให้ทุกวันนี้มีเฉพาะรายใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์
ล่าสุดวันนี้ (10 ม.ค.65) สมาคมการค้าผู้ค้าไข่ไก่ไทย แจ้งปรับขึ้นราคาไข่ไก่ อีกฟองละ 20 ส.ต. หรือ 6 บาทต่อแผง เช่นเดียวกับราคาอาหารสัตว์ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นอีก 6-9 บาทต่อกก. จะเห็นได้ว่าผู้บริหาร 2 กระทรวงหลักที่มีหน้าที่ดูแลสินค้าเกษตรไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน และส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนที่ต้องแบกรับค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย ดร.สัณหพจน์ กล่าว