ตำรวจ เตือนร้านอาหาร 69 จังหวัด ปรับลดเวลาขาย "แอลกอฮอล์" ไม่เกิน 3 ทุ่ม
ตำรวจกำชับร้านอาหาร 69 จังหวัด จำหน่าย "แอลกอฮอล์" ไม่เกิน 3 ทุ่ม ฝ่าฝืนเจอดำเนินคดี ทั้งเจ้าของร้าน-ลูกค้า ยกเว้น 8 จังหวัดนำร่องการท่องเที่ยว ในสถานประกอบการที่มีสัญลักษณะ SHA+
10 ม.ค.2564 พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) โฆษก บช.น. เปิดเผยว่า จากประกาศของกรุงเทพมหานคร ร้านอาหาร ที่จะจำหน่ายเครื่องดื่มนั้น สามารถจำหน่ายสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 21.00 น. จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการและประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งของประกาศเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในภาพรวมต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รองโฆษก ตร.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตำรวจเป็นเพียงหน่วยงานที่ปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยข้อกำหนดที่ประกาศออกมาในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา ทำให้หลังจากนี้ ในแต่ละจังหวัดจะมีทางผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานบริหารโรคติดต่อคอยออกประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับมติของ ศบค.และ ของรัฐบาล โดยจะเน้นเป็นการปรับพื้นที่ควบคุม 69 จังหวัด ส่วนพื้นที่การนำร่องท่องเที่ยวยังคงไว้ที่ 8 จังหวัด และปรับเวลาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ 21.00 น.
การจะจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องเป็นร้านที่มีสัญลักษณ์ SHA+ ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตและขอข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งหน้าร้านจะมีสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ติดอยู่ ส่วนร้านอาหารประเภท ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถขอใบอนุญาตได้ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ยกตัวอย่าง กรุงเทพมหานคร ที่มีคำสั่งออกมาและมีผลบังคับใช้ วันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมานั้น โดยให้ร้านที่เป็น ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ประสงค์จะปรับพื้นที่บางส่วนให้เป็นร้านอาหาร สามารถทำเรื่องขอใบอนุญาตได้ก่อนวันที่ 15 มกราคม นี้ เพื่อเปิดบริการในวันที่ 16 มกราคม
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว อีกว่า ตำรวจจะลงพื้นที่ตรวจสอบร้านอาหารในแต่ละพื้นที่ เพื่อจับกุมร้านอาหารที่ฝ่าฝืน หรือ ไม่มีใบอนุญาต ตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยในส่วนของผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่กระทำผิดกฎหมาย จะมีโทษ จำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่าง จะมีโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท โดยหากพบความผิดที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือคำสั่งจังหวัด ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการก็จะถูกดำเนินคดีทั้งสองฝ่าย