"นายกฯ" กำชับทุกรพ.อย่าปฏิเสธรับเด็กติดโควิด
"นายกฯ" ห่วงเด็กติดโควิดเพิ่มขึ้น ฝากสธ.กำชับโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน อย่าปฏิเสธรับเด็กติดโควิด ต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นลำดับแรก ต้องรับ-ส่งต่อให้เร็วที่สุด
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด การศึกษายังไม่อาจหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่มีตัวแปรสำคัญอย่างโควิด-19 ได้ จากสถิติของปี 2565 มีการคาดการณ์ถึงความเสี่ยงของเด็กที่จะหลุดจากระบบการศึกษา มากถึง 1.9 ล้านคน และพบว่ามีเด็กกว่า 43,000 คนที่ยังไม่กลับเข้ามาเรียนต่อ และล่าสุดเด็กเล็กถูกปฏิเสธเข้ารับการรักษา เรื่องนี้ระดับ “นายกฯ” ต้องออกโรงเอง
โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความห่วงใยต่อกรณีที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ในเด็กเพิ่มขึ้น รวมถึงที่มีการเผยแพร่ในสื่อว่าได้เกิดกรณีโรงพยาบาลปฏิเสธการรับรักษาเด็ก โดยในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีขอให้กระทรวงสาธารณสุขกำชับโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน อย่าปฏิเสธการรับผู้ป่วยเข้ารักษา หากเกิดกรณีผู้ป่วยเต็มให้มีการประสานงานส่งต่อผู้ป่วยให้เร็วที่สุด โดยต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นลำดับแรก
"นายกรัฐมนตรีมีความกังวลต่อกรณีที่มีการปฏิเสธไม่รับเด็กเข้ารักษาในโรงพยาบาล ขอให้กระทรวงสาธารณสุขวางระบบเพื่อให้มีการรับหรือส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ มีระบบให้คำปรึกษาในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด เนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันน้อยเพราะยังไม่ได้รับวัคซีนเหมือนผู้ใหญ่”น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชราชินีซึ่งเป็นสถาบันหลักที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาโรคเด็ก ให้เตรียมการให้พร้อมเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิดเด็กทุกกลุ่มทุกระดับอาการ และเป็นหน่วยงานหลักในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยเด็กแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งขั้นตอนวิธีการดูแล การเตรียมยาน้ำฟาร์วิพิราเวียร์สำหรับเด็ก เป็นต้น
สำหรับผู้ปกครอง มีข้อแนะนำว่าในช่วงที่แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มขึ้นนี้ ขอให้หลีกเสี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เด็กรับเชื้อมากขึ้น และขอแนะนำให้ผู้ปกครองซึ่งต้องอยู่ใกล้ชิดเด็กให้เข้ารับวัคซีนให้ครบโดส เพื่อลดโอกาสที่จะนำเชื้อมาสู่เด็กด้วย ส่วนของการคัดกรองเพื่อนำเด็กเข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด เนื่องจากเด็กจะไม่สามารถถ่ายทอดอาการของตนเองได้เหมือนผู้ใหญ่
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่าขอให้ผู้ปกครองเฝ้าสังเกตอาการ หากเด็กมีไข้ ไอ มีน้ำมูกและมีประวัติไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือมีคนในครอบครัวเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ถือว่าเด็กมีความเสี่ยงควรใช้ชุดตรวจ ATK ที่ปัจจุบันมีทั้งแบบตรวจโพรงจมูกและน้ำลายเพื่อตรวจคัดกรอง หากให้ผลลบควรตรวจซ้ำในวันที่ 3-4 แต่หากผลเป็นบวกกรณีอยู่ในภูมิภาคให้ติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน หากอยู่ใน กทม.และปริมณฑล สามารถติดต่อไปยังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ยังได้มีข้อสั่งการให้กรมการแพทย์ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมกันดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มเด็กให้ดีที่สุด ซึ่งล่าสุดได้มีการประสานกับ กทม.ให้จัดทำเตียง Community Isolation (CI) สำหรับเด็กและครอบครัวเอาไว้ 6 โซน โซนละ 1 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ แห่งละอย่างน้อย 50 เตียง โดย 1 ห้องเด็กอยู่ร่วมกัน 3-4 คน พร้อมให้สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชราชินีเผยแพร่วิธีการเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก ผ่านทาง YouTube เผยแพร่แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศให้เตรียมยาได้ด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก