1.25 แสนล้านเสียหายมหาศาลหากหมูติด โรคASF เปิดคำชี้แจงเฉลิมชัย ลงราชกิจจาฯ
เสียหายมหาศาล 1.25 แสนล้านบาท หากหมูติดเชื้อ"โรคASF" เปิดกระทู้ถามสด ปมสถานการณ์แพร่ระบาดอหิวาต์แอฟริกาในหมู เผย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เคยตอบกระทู้ ลงในราชกิจจาฯ แจกแจงมาตรการรับมือถึงขั้นเสนอให้เป็นวาระแห่งชาติ
ปมปัญหา"หมูแพง" จนต้องติดตามหาต้นตอสาเหตุโดยเพ่งเล็งไปที่กรณีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือโรค ASF ซึ่ง"คมชัดลึก" ได้นำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งพบข้อมูลว่า มีการแพร่ระบาดมาจากต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2562 ขณะนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ตั้งกระทู้ถาม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ตอบลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 15 พ.ย.2562 ว่าจะมีมาตรการป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อย่างไร
เนื้อหาจากนี้ไป คือ การชี้แจงของเจ้ากระทรวงเกษตรฯ ต่อการรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือโรค ASF มีประเด็นสำคัญที่ควรนำไปพิจารณาอย่างยิ่ง
เมื่อปี 2562 นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถาม รมว.เกษตรฯ เรื่อง มาตรการป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ไว้ดังนี้
ปัจจุบัน พบว่า มีการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคดังกล่าวเป็นโรคระบาดรุนแรงที่ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา เชื้อไวรัสมีความทนทาน ทำลายยาก โดยปัจจุบันได้มีการระบาดใน 20 ประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ตามข้อมูล ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เกิดโรค 161 ครั้ง ใน 62 จังหวัด มูลค่าความเสียหาย 8,029 ล้านบาท) ราชอาณาจักรกัมพูชา (เกิดโรค 11 ครั้ง ใน 5 จังหวัด มูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 5.4 ล้านบาท) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (เกิดโรค 12 ครั้ง ใน 5 จังหวัด มูลค่าความเสียหาย 7.8 ล้านบาท)
หากพบการระบาดของโรค ในประเทศไทยจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิต ปศุสัตว์ไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาท จึงขอเรียนถามว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบาย ในการป้องกันมิให้เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศหรือไม่ อย่างไร
ขณะที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบกระทู้ถามดังนี้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย กรมปศุสัตว์ ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) อย่างใกล้ชิด โดยพบว่าการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน ได้มีการระบาดใน 28 ประเทศ สำหรับทวีปเอเชียพบการระบาดจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และล่าสุดพบการระบาดที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ - เลสเต
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคในทวีปเอเชียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยง ที่เชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าสู่ประเทศมากยิ่งขึ้น โดยกรมปศุสัตว์และผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมกัน ประเมินว่า หากมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทยโดยที่ไม่มีการเตรียมความพร้อม ในการป้องกันโรคเข้าฟาร์ม การเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรการควบคุมโรคจะก่อให้เกิด ความเสียหายมูลค่าไม่ต่ำกว่า 125,000 ล้านบาท โดยไม่รวมผลกระทบภายหลังจากโรคสงบแล้ว เช่น การเลิกกิจการของเกษตรกรรายย่อย การแข่งขันราคาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกสุกร และผลิตภัณฑ์สุกร รวมทั้งความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการการเฝ้าระวัง และป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อเตรียมความพร้อม เผชิญเหตุการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ดังนี้
การเตรียมความพร้อม
1. จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Contigency Plan) และแนวเวชปฏิบัติของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Clinical Practice Guideline)
2. รัฐบาลยกระดับแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกา ในสุกร เป็นวาระแห่งชาติ
3. มีการจัดตั้ง War Room ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนมาตรการ โดยส่วนกลางมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน ส่วนภูมิภาคมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
4. ซ้อมแผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
5. เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัย
6. ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และองค์การอาหารและ การเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์ แอฟริกาในสุกร
มาตรการในการป้องกัน
1. การประกาศระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรจากประเทศที่มีการระบาดของโรค
2. บูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสุกร ผลิตภัณฑ์สุกรเข้ามาในประเทศ มาตรการการเฝ้าระวัง จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังทางอาการ ขึ้นทะเบียนและประเมิน ความเสี่ยงด้วยแอพลิเคชั่นอี- สมาร์ทพลัส พร้อมให้คำแนะนำความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน ความร่วมมือกันในรูปแบบรัฐและร่วมเอกชน (Public Private Partnership) ร่วมกันป้องกันโรค สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงนั้น จำเป็นต้องเตรียมพร้อมเครื่องมือที่ใช้ทำลาย ซากสุกรที่ตายและติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องการการแพร่กระจายของเชื้อ ตลอดจนอุปกรณ์ การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นในพื้นที่เพื่อ รู้โรคเร็ว ควบคุมเร็ว สงบเร็ว และยังได้ยกระดับการเฝ้าระวัง ในพื้นที่จังหวัดชายแดน โดยเพิ่มด่านตรวจสอบการขนย้ายสัตว์ตามด่านต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ติดเขต แนวชายแดน และระหว่างอำเภอ รวมถึงช่องทางที่เชื่อมต่อจังหวัดต่าง ๆ โดยให้เจ้าหน้าที่เพิ่มกำลัง ในการตรวจตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ มีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการยกระดับเฝ้าระวัง หากพบสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยจะเข้าตรวจสอบ และฝังทำลายทันที รวมทั้งภาคเอกชนดำเนินการ รับซื้อสุกรในราคายุติธรรม ภาครัฐทำการตรวจโรค หากไม่เป็นโรค นำไปเข้าโรงฆ่าจำหน่ายบริโภค ในพื้นที่หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ทำการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดสู่ประเทศไทย
ทั้งนี้ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แม้ไม่ใช่เป็นโรคติดต่อจาก สัตว์สู่คน แต่เป็นโรคระบาดร้ายแรงในสุกร เมื่อเกิดโรคแล้วอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 80 - 100 ส่วนการกำจัดโรคนั้นต้องทำลายสุกร แล้วฝังหรือเผา ประเทศไทยมีเกษตรกรและผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร 187,272 ราย จำนวนสุกร 11,298,185 ตัว หากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แพร่เข้ามาและ ระบาดไปทั่วประเทศจะส่งผล กระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ ตลอดจนการค้า เนื้อสุกร อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสุกร และอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์
ดังนั้น จึงขอให้เพิ่มมาตรการ เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ให้เข้มข้นขึ้น รวมทั้ง ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ประสานงานกับ หน่วยงานประจำท่าอากาศยานนานาชาติทั่วประเทศ ให้ตรวจยึดซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ผู้เดินทาง นำติดตัวมาจากประเทศที่เกิดโรค ตามด่านชายแดนก็เช่นกัน รวมทั้ง ด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศ พร้อมเข้าควบคุมโรคทันที หากได้รับการแจ้งว่า มีสัตว์ป่วย - ตายผิดปกติ อีกทั้งต้องเข้มงวด ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ซึ่งต้องมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเพื่อมิให้เกิดการแพร่กระจายของ โรคระบาดออกไปเป็นวงกว้างจนเกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและธุรกิจการปศุสัตว์ ซึ่งจะนำไปสู่ ความเสียหายต่อการส่งออกสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังต่างประเทศ แล้วส่งผลกระทบรุนแรงทางเศรษฐกิจ ของประเทศต่อไป
ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์ที่ทุกฝ่ายต่างรับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือโรคASF มานับตั้งแต่ปี 2562 จวบจนถึงปัจจุบัน 2565 ท่ามกลางคำถามว่า แล้วได้ดำเนินมาตรการรับมือตามนี้หรือไม่ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบขยายเป็นวงกว้างคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1.25 แสนล้านบาท เหมือนอย่างที่ รมว.เฉลิมชัย ได้ตอบกระทู้ไว้
คลิกอ่านกระทู้ถาม มาตรการรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือโรคASF ฉบับเต็ม