โควิดทำ "หนี้ครัวเรือน" เพิ่ม อันดับหนึ่งคือหนี้บ้าน และการเสริมสภาพคล่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ ไตรมาส 3/64 โควิดทำ "หนี้ครัวเรือน" เพิ่ม อันดับหนึ่งคือหนี้บ้าน ผลมาจากการขยับขึ้นของหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย และการเสริมสภาพคล่อง เพื่อรองรับรายจ่ายในชีวิตประจำวัน คาดการณ์ปี 65 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไว้ที่กรอบ 90-92%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูล "หนี้ครัวเรือนไทย" หรือเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุด สะท้อนว่า แม้ครัวเรือนไทยยังคงก่อหนี้เพิ่ม แต่ก็มีสัญญาณระมัดระวังมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
โดยในไตรมาส 3/64 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท ขยับขึ้นราว 4.2% (YoY) ชะลอลงเมื่อเทียบกับ 5.1% (YoY) ในไตรมาส 2/64 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าระดับหนี้สินของครัวเรือนที่ขยับขึ้นในไตรมาส 3/64 ใกล้เคียงกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในช่วงไตรมาส 3/64 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 89.3% เท่ากับในไตรมาส 2/64 โดยหนี้สินของภาคครัวเรือนส่วนใหญ่จะยังคงเป็นหนี้บ้าน
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ลักษณะการก่อหนี้ของครัวเรือนในไตรมาส 3/64 แตกต่างจากช่วงไตรมาสก่อนๆ ตรงที่มีสัญญาณของการก่อหนี้เพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่อง และ/หรือรองรับรายจ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการขยับขึ้นของหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้เพื่อการประกอบอาชีพตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกสาม
สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทย สถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง อาจทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการก่อหนี้เพิ่มเติม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า แม้ในปี 65 จะยังคงเห็นยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็น่าจะเป็นอัตราการเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้น จึงยังคงตัวเลขประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 65 ไว้ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพี โดยสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์ในปี 64 ที่ 90.5%
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด ส่วนโจทย์เฉพาะหน้าของครัวเรือนไทยที่มีภาระหนี้ ยังคงเป็นการดูแลสมดุลระหว่างรายจ่ายและรายได้เพื่อคงความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนการเร่งติดต่อสถาบันการเงินเพื่อรับมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมเมื่อประสบปัญหา เช่น การปรับโครงสร้างหนี้