คุรุสภา เปิดชื่อ ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาเนื่องใน "วันครู2565"
คุรุสภา ประกาศรายชื่อ ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติประจำปี 2565 เนื่องใน “ วันครู2565” ระบุ “คุณหญิงแม้นมาส” ผู้เสริมการอ่านฯ “หมอกระแส” ผู้เห็นความสำคัญของการพัฒนาคนชนบทฯ “ธงทอง”ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเขตพื้นที่ฯ“อิสระ”ผู้นำในการยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพ
ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นเจ้าภาพจัดงาน “วันครู 2565” ครั้งที่ 66 ในวันที่ 16 มกราคม 2565 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญ เนื่องในโอกาสวันครูแห่งชาติ2565 ความว่า “ พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้ สู่อนาคต"
ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า คุรุสภา โดยคณะกรรมการสรรหาผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2565 ได้ดำเนินการสรรหาบุคคลและนิติบุคคลที่ดำเนินงาน หรือจัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงต่อการศึกษาอย่างสร้างสรรค์ และการดำเนินงานหรือกิจกรรมที่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติจนเป็นที่ประจักษ์ชัด และเป็นที่ยอมรับของสังคมให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาของชาติ เพื่อประกาศให้สาธารณชนรับรู้และร่วมยกย่องเชิดชูเกียรติ
สำหรับในปี 2565 นี้ มีบุคคลและนิติบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 7 ราย ดังนี้
1. ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต
“ผู้ส่งเสริมการอ่านอันเป็นทักษะสำคัญในการสร้างสังคมแห่งความรู้”
ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต อดีตนายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้ก่อตั้งสมาคมห้องสมุด แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างสังคมและชุมชนให้มีความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาของประชาชน การส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ การรู้หนังสือของประชาชนผ่านห้องสมุด โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในรูปแบบต่าง ๆ พัฒนาหลักสูตรวิชาบรรณารักษศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อุทิศตนศึกษาค้นคว้าด้วยความวิริยะ อุตสาหะ สร้างสรรค์ผลงานวิชาการทั้งตำรา บทความวิชาการที่มีคุณค่าออกเผยแพร่ เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการและวิชาชีพ แม้ในวัย ๙๙ ปี
ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาสยังได้อุทิศเวลา อุทิศตน ทำงานด้านการศึกษาและห้องสมุด พัฒนาวิชาการ วิชาชีพ และสร้างสังคมแห่งความรู้และการศึกษาของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวรรณกรรม และการส่งเสริมการรู้หนังสือโดยเฉพาะภาษาไทยให้แก่ประชาชนภาคใต้ มีงานเขียนวิชาการ งานแปล และ วรรณกรรมเด็กกว่า 50 ชื่อ
2.ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์
“ผู้เห็นความสำคัญของการพัฒนาคนชนบทเพราะการศึกษาของชาวชนบท คือ อนาคตของประเทศ”
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม นายกสภาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก และผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนสาทิตเพชรบูรณ์ ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่ผ่านมา ได้แก่ นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยนเรศวร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ผู้เห็นความสำคัญของการศึกษาด้วยการเป็นผู้ริเริ่มสร้างสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยนครพนม โรงเรียนกระแสพัฒนา วิทยาลัยเทคโนโลยีพลพณิชยการ และวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย จังหวัดขอนแก่น นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ วิชาการบริหารสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2525 และหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ วิชาการบริหารและการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2532
3.ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
“ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน”
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ข้าราชการบำนาญและเป็นผู้มีประสบการณ์ในราชการหลากหลายมายาวนาน เช่น เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แม้จนทุกวันนี้ก็ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการกฤษฎีกาและกรรมการชุดต่าง ๆ ของ หลายกระทรวงทบวงกรม โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เมื่อครั้งที่รับราชการในหน้าที่เลขาธิการสภาการศึกษาได้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพิ่มเติมขึ้นจากแต่เดิมที่มีแต่เพียงเขตพื้นที่การศึกษาที่ดูแลรับผิดชอบทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษาร่วมกัน อีกทั้งยังได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อส่งเสริมการศึกษาเอกชนที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือโรงเรียนปอเนาะสอนศาสนาอิสลามและโรงเรียนตาดีกา ทำให้การจัดการศึกษาเอกชนในพื้นที่ดังกล่าวมีคุณภาพและได้รับการสนับสนุนจากทางราชการโดยใกล้ชิด
4. นายอิสระ ว่องกุศลกิจ
“เป็นผู้นำในการยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพโดยสร้างระบบนิเวศให้สถานศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีพ ของครู นักเรียน และชุมชนด้วยการนำเทคโนโลยีนำสมัยมาใช้ในการเรียนการสอนดังปณิธานที่ว่า “สร้างคุณค่า สร้างอนาคตที่ยั่งยืน”
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล เป็นผู้เห็นความสำคัญของการศึกษา โดยส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับคุณภาพการศึกษา ด้วยการสรรค์สร้างนวัตกรรมทางการศึกษา การเพิ่มศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศทางการศึกษา ผ่านคณะกรรมการโครงการต่าง ๆ อาทิ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมความร่วมมือภาคสังคม ในมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (มูลนิธิที่มอบรางวัลแก่ครู ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตนักเรียน) มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีวศึกษาของไทย โดยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีแบบเข้มข้น ร่วมกับหลายวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อยกระดับกำลังคนอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับแนวหน้า รวมทั้งได้จัดสร้างศูนย์ฝึกอบรมทางด้านเทคนิคในโรงงานของกลุ่มมิตรผล เพื่อฝึกทักษะการปฏิบัติงาน และเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีนำสมัย
ในปี พ.ศ. 2561 ได้เริ่มการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยเน้นในเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูง หรือที่เรียกว่า RAIFA MODEL (Robotic and AI for Agriculture) ในการเรียนการสอนแห่งแรกของประเทศ และสร้างความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรมกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อมุ่งยกระดับการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษา และได้ก่อตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น เพื่อมุ่งให้เป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาชั้นนำระดับแนวหน้า
5. นายถาวร ชลัษเฐียร
“ผู้เชื่อมโยงโลกการศึกษากับโลกการทำงาน”
นายถาวร ชลัษเฐียร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการบริหาร บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด และ ประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีบทบาทในการพัฒนาด้านการศึกษาของอาชีวศึกษา อาทิ การพัฒนาระบบการเรียนการสอนระบบทวิภาคีที่เน้นให้นักเรียนนักศึกษาเรียนในวิชาที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานจริง และเพิ่มวิชาในด้านการพัฒนาทักษะให้มากขึ้น โดยนักเรียนนักศึกษาในระบบทวิภาคีที่จะเข้าฝึกงานในโรงงานของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมต้องผ่านการฝึกอบรมพื้นฐานก่อน นอกจากนั้น ยังนำนักศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. เข้ามาฝึกฝีมือเพื่อเตรียมเข้าแข่งขัน World Skills จนได้ผลงานทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ในสาขา CNC Turning และสาขา Milling ปัจจุบันได้เตรียมฝึกเพื่อส่งเข้าแข่งขัน World Skills ในปี 2565 ณ เมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน และปี 2567 ณ เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศสไว้แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเป็นหนึ่งทางด้านช่างของประเทศไทยในระดับอาเซียนและเอเชีย
นอกจากนี้ ในฐานะประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษา ทั้งในด้านการพัฒนากำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ โดยการนำผู้แทนภาคเอกชนร่วมเป็น Lead ในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวและตอบสนองได้ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
6. โรงเรียนนันทบุรีวิทยา วัดพระธาตุช้างค้ำ วรวิหาร
“ผู้สร้างเยาวชนของชาติ ทายาทของพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน”
โรงเรียนนันทบุรีวิทยา วัดพระธาตุช้างค้ำ วรวิหาร จังหวัดน่าน จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2506 โดยในส่วนของโรงเรียนนันทบุรีวิทยา พระปริยัติธรรม จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 เพื่อให้พระภิกษุ สามเณรได้มีสถานที่ศึกษาเล่าเรียน ในปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนนันทบุรีวิทยาเข้าอยู่ในโครงการโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน จึงมีนโยบายเพื่อสงเคราะห์นักเรียนที่ขาดแคลนและหาสถานที่เรียนไม่ได้
ปัจจุบัน (ปีการศึกษา ๒๕๖๓) โรงเรียนนันทบุรีวิทยา สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 แผนกปริยัติศึกษา แผนกธรรม แผนกบาลี มีสามเณรเล่าเรียน รวมจำนวน 390 รูป มีผลงานสร้างเยาวชนของชาติ สร้างทายาทของพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกด้าน ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นศาสนทายาทที่ดีมีคุณภาพมากว่า 46 ปี ทั้งยังได้พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรด้วยวิธีที่หลากหลาย ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อการเรียนรู้และเทคโนโลยี จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาและจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีกิจกรรมพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกโรงเรียน รวมถึงจัดแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้
7. มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“ผู้มุ่งมั่นพัฒนาให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษา เพื่อสร้างกุญแจสู่ความสำเร็จในอนาคต”
มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จดทะเบียนเป็นมูลนิธิไทย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 โดยมูลนิธิดังกล่าวดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งสิ้น 34 จังหวัด มีจำนวนเด็กในอุปการะกว่า 42,796 คน
นอกจากนั้น ยังให้ความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มเด็กที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยมอบทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะในด้านการใช้ชีวิต เช่น กิจกรรมคลังอาหารในครัวเรือน กิจกรรมเกษตรเพื่อน้อง เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น มูลนิธิยังได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมภาคีเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) อันส่งผลให้เด็กเกิดความสูญเสียโอกาสทางการเรียนรู้ ด้วยการดำเนินโครงการ CCF LearnSmart ที่มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ นวัตกรอาสาช่วยสอนในชุมชน ห้องสมุดฉลาด และกระเป๋าเรียนรู้ เพื่อมุ่งพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน
ที่มา: คุรุสภา