ศรีสุวรรณ จ่อยื่น ป.ป.ช. พรุ่งนี้ เอาผิด ประภัตร ปกปิด "โรค ASF"
ศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมยื่น ป.ป.ช. พรุ่งนี้ เอาผิด รมช. เกษตรฯ ประภัตร โพธสุธน ซึ่งกำกับ ดูแลกรมปศุสัตว์ ผิดพลาดล้มเหลว ปกปิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ "ASF"
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันศุกร์ที่ 14 ม.ค.65 เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยังป.ป.ช.นนทบุรีเพื่อนำข้อมูลหลักฐานไปร้องขอให้สอบ(เพิ่ม)เอาผิด รมช.ประภัตร โพธสุธน ซึ่งกำกับ ดูแล กรมปศุสัตว์ ซึ่งผิดพลาด ล้มเหลว และปกปิดการแพร่ระบาดของเชื้อ "โรคอหิวาต์แอฟริกาหรือ ASF"
ทั้งนี้เนื่องจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 1662 / 2562 เรื่อง มอบหมายอำนาจหน้าที่ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ(นายประภัตร โพธสุธน) กำกับดูแล กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และองค์การสะพานปลา นั้น
กรณีที่ปรากฏเป็นการทั่วไปเกี่ยวกับการปกปิดการแพร่ระบาดของ"เชื้ออหิวาต์แอฟริกา" หรือ " ASF" ของกรมปศุสัตว์ ทำให้หมูของเกษตรกรผู้เลี้ยงรายเล็ก รายกลาง ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ทำให้หมูขาดตลาด เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้หมูแพงในปัจจุบัน
ความผิดพลาด ล้มเหลวของกรมปศุสัตว์ต่อกรณีดังกล่าว ย่อมเชื่อมโยงไปถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประภัตร โพธสุธน) ที่กำกับดูแล กรมปศุสัตว์ ตามอำนาจหน้าที่ด้วย
ทั้งนี้เมื่อวานนี้ ( 12 ม.ค. ) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเป็นที่สงสัยว่าบริษัทใดได้ประโยชน์จากการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร "ASF" ทั้ง ๆ ที่มีรายงานว่าไทยพบหมูติดเชื้อ ASF ตัวแรกในจ.เชียงรายตั้งแต่ปี 2562 แต่กรมปศุสัตว์กลับไม่ยอมประกาศว่าพบการระบาด อันเป็นข้อพิรุธว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเลี้ยงหมูหรือไม่
การปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอหิวาต์หมู (ASF) ที่ส่งผลให้ ผู้เลี้ยงหมู รายย่อยล้มหายไปเป็นจำนวนมากแต่กรมปศุสัตว์กลับอ้างเป็นโรคเพิร์ส(PRRS) ซึ่งอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว จึงไม่มีมาตรการออกมารองรับตามที่พ.ร.บ.โรคระบาด 2558 กำหนดไว้ เป็นเหตุให้ "หมูแพง" กว่าเท่าตัว เดือดร้อนกันไปทั่วทุกหย่อมหญ้า และทำให้สินค้าอื่น ๆ ใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกันเป็นทิวแถว
การปิดบังข้อมูลโรคระบาดเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัทสามารถส่งออกหมูได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การส่งออกหมูมีชีวิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นจาก 3,571 ล้านบาทในปี 2562 เพิ่มเป็น 15,863 ล้านบาทในปี 2563 และค่อยลดลงหลังกัมพูชาและเวียดนามตรวจพบว่าหมูจากไทยติดเชื้อ ASF แต่ผลประโยชน์หลักหมื่นล้านบาทนั้นต้องแลกกับการที่คนไทยต้องซื้อ "หมูแพง" ขึ้น
กรณีดังกล่าวองค์กรไบโอไทยได้คำนวนจากราคา "หมูแพง" จากฐานราคาหมูเนื้อแดง 142 บาท/ก.ก. ก่อนพบโรคระบาด และคาดการณ์ว่าราคาหมูจะแพงขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าตัวเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น พบว่าคนไทยซึ่งบริโภคหมูเฉลี่ยคนละ 24 ก.ก./ปี จะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อหมูที่แพงขึ้นอย่างน้อย 200,000 ล้านบาท/ปี ไม่นับความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ที่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยนับหมื่นนับแสนรายที่จะต้องออกจากอาชีพ
คาดการณ์ว่าหลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู จะทำให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลางสูญหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้ควบคุมระบบการผลิต การแปรรูป การกระจายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ครบวงจรมากขึ้น สามารถกำหนด "ราคาเนื้อหมู"ได้ตามต้องการ อันชี้ให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่จะมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้นายศรีสุวรรณ เชื่อว่าการปกปิดข้อมูลดังกล่าวทำให้บริษัทขนาดใหญ่บางบริษัทได้ประโยชน์จากการที่หน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเฉพาะพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจำเป็นต้องนำความมาร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้แสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อเสนอหน่วยงานรัฐตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ตาม รธน.2560 ม.230(2) ประกอบ ม.51 และ ม.59