ปอกเปลือก "การศึกษาไทย" ทำไมปฏิรูปไม่สำเร็จ
ปอกเปลือก "การศึกษาไทย" ทำไมปฏิรูปไม่สำเร็จ ไล่เรียงมาตั้งแต่เขียนกฏหมายการศึกษาแต่ละฉบับเอาไว้เป็นอย่างดี ให้ครูเป็นทุกอย่าง ทำทุกหน้าที่ แต่ไม่เกิดการปฏิบัติให้ได้ผลจริง ...บทความเนื่องใน “วันครู2565” โดย ไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครู กทม.ออนไลน์
ไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครู กทม.ออนไลน์ สะท้อนภาพ “การศึกษาไทย” ในฐานะครูกทม.ตัวเล็กๆและสวมหมวกอีกใบในฐานะตัวแทน องค์กรครู ต่อสู้เพื่อเพื่อนครู เขียนบทความนี้เอาไว้อย่างน่าติดตาม และชวนคิด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาชาติให้ดีขึ้น “คมชัดลึกออนไลน์” มีรายละเอียดมานำเสนอ
หากย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นที่ผู้เขียนจำความได้โดยไม่ไถลไปไกลมากนัก คงเริ่มตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปะวิทยาการต่าง ๆ เร่งรัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ
รวมทั้งในการจัดการศึกษาของรัฐ ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ตามที่กฎหมายบัญญัติและให้ความคุ้มครองการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ดังนั้น จึงมีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเกิดขึ้น เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและจัดการศึกษาอบรมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าว กฎหมายฉบับนี้ เรียกว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้เอง จะถือได้ว่าเป็นจุดแรกเริ่มของการปฏิรูปการศึกษาอีกครั้งหนึ่งก็ว่าได้ เพราะในมาตรา 75 ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นองค์การมหาชนเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
อย่างไรก็แล้วแต่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมาจนถึง ณ ขณะปัจจุบัน การปฏิรูปการศึกษาเป็นเช่นไร ท่านผู้อ่านคงอาจมีมุมมองที่ต่างกัน บางท่านอาจจะมองว่าล้มเหลว แต่บางท่านอาจจะมองว่า แม้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะดูไม่ค่อยดีมากนักหรือไม่ เมื่อเทียบกับชาติอื่น ก็ใช่ว่าจะเป็นการปฏิรูปที่ล้มเหลว
หากการปฏิรูปไม่อยู่ในจุดที่เกิดความพึงพอใจ ทุกคนอาจควรมีความรับผิดชอบร่วมกันหรือไม่ เพราะการศึกษาอาจมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องแทรกซ้อนเข้ามา เช่น ภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม และอาจไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากปราศจากความร่วมมือกัน และปราศจากปัจจัยที่สนับสนุนเพียงพอ คงจะเรียกหาความสำเร็จจาก “การปฏิรูปการศึกษา” ไม่ได้
ในห้วงแห่งการใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557
โดยมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ซึ่งใน (5) ได้บัญญัติด้านการศึกษาไว้ และปัจจุบันได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560
โดยหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา ได้บัญญัติไว้กล่าวคือ (1) ให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
(2) ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 54 วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู
(4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
ก่อนเข้าสู่ประเด็นข้อร้องขอ ผู้เขียนขอนำกล่าวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอีกมาตราที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54
วรรคหนึ่ง รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
วรรคสอง รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
วรรคสาม รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย
วรรคสี่ การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
วรรคห้า ในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน
วรรคหก ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าว อย่างน้อยต้องกำหนดให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระและกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว”
จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สู่ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ซึ่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน รัฐสภาลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ หลังจากค้างการพิจารณามาตั้งแต่สมัยประชุมเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ปีที่ผ่านมา โดยมีเสียง 435 ต่อ 30 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง แล้วตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...นี้ ผู้เขียนได้เคยเข้าร่วมพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) อยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 แม้จะได้เข้าร่วมพิจารณาครั้งเดียว แต่ก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่พอสมควร อีกทั้งได้ติดตามร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงการนำเข้าสู่สภาในฐานะองค์กรครูที่ได้เคลื่อนไหวที่ผ่านมา
แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติจะอยู่ในสภาโดยจะพิจารณาเป็นไปอย่างไรก็ตาม การศึกษาไม่เคยหยุดนิ่ง และไม่ว่าจะอยู่ห้วงของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด 19) ก็ตาม การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนยังคงดำเนินต่อไป โดยใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ตามปัจจัยที่เอื้ออำนวย แม้จะมีข้อจำกัดมากน้อยต่างกันในแต่ละพื้นที่
การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ถือได้ว่าได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งในช่วงแรกก็อาจจะประสบปัญหามากที่สุดเช่นกันหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยและทั่วโลกได้ประสบปัญหาการแพร่ระบาดเช่นว่านี้ โดยสิ่งที่ครูและเด็ก ๆ อยากได้มากที่สุดในช่วงของการเรียนออนไลน์คงเป็นสื่อและอุปกรณ์การเรียนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคลื่นความถี่หรือการเชื่อมต่อสัญญาณที่มีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ครูทำการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์หรือรูปแบบต่าง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ก็ยังคงมีงานสนับสนุนที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป เช่น งานธุรการ งานนักการภารโรง งานพัสดุ งานงบประมาณ งานการเงิน งานจัดซื้อจัดจ้าง งานรักษาความปลอดภัย งาน ประเมินต่าง ๆ งานตอบสนองนโยบาย หรืองานอื่นที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งงานขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ
จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมีข่าวครูลาออกจากงานราชการ แม้จะยังไม่ปรากฏว่ามีการลาออกกันมากนัก แต่ได้สะท้อนเหตุผลของการลาออกได้ว่า ครูมีภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก ยิ่งแต่มีภาระงานล้นมือ อาจจะมากกว่างานจัดการเรียนการสอนด้วยซ้ำไปหรือไม่
ขณะเดียวกัน นอกจากมีงานด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนแล้ว โรงเรียนยังขาดอัตรากำลังที่เพียงพอ จะด้วยการมีอัตราแต่ไม่จัดสรรหรือไม่ หรือจะด้วยอยู่ในห้วงของการสอบแข่งขันหรือคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีครูไม่เพียงพออยู่ ที่จะทำการจัดการเรียนการสอน ตามเสียงสะท้อนที่ผู้เขียนได้รับฟังมา
การมีปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูไม่ครบกลุ่มวิชา และบางโรงเรียนหรือหลายโรงเรียนหรือไม่ มีจำนวนครูไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็ก ๆ อนุบาล จึงต้องประกาศรับสมัครเพื่อจัดหาครูมาดูแลในอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำก็มี เนื่องจากโรงเรียนไม่มีเงินมากพอในการจ้าง ทั้งนี้ โรงเรียนต้องหาเงินเองหรือต้องขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านให้ช่วยบริจาคเพื่อจ้างครูให้มาดูแลเด็ก ๆ
ปัญหางานล้นมือและปัญหาการขาดครูส่งผลกระทบต่อเวลาในการจัดการเรียนการสอนของครู กระทบต่อการจัดการศึกษาในระดับสถานศึกษาเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การจัดการอบรมต่าง ๆ ให้แก่ครู หรือการให้ครูมีชั่วโมงการอบรม อาจไม่ใช่การยกระดับคุณภาพของการศึกษา ตรงกันข้าม อาจจะเป็นการลดเวลาที่ครูจะต้องทำการเตรียมการสอนให้ลดน้อยถอยลงไปอีก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ควรจะลดหรืองดการอบรม เพื่อให้ครูได้มีเวลาทุ่มเทให้กับงานสอนอย่างเต็มที่ หรือหากจะมีการอบรม อาจต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าเรื่องที่อบรมนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่ครูไม่เคยได้รับการพัฒนามาก่อนจากสถาบันผลิตครู และต้องเป็นประโยชน์กับเด็ก ๆ จริง ไม่ใช่การจัดอบรมในทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือไม่ ต้องแน่ใจว่าการอบรมนั้นไม่ใช่การ
ดำเนินการในทางธุรกิจการศึกษา กล่าวอีกนัยก็คือ การพัฒนาวิชาชีพครู ควรจะจบลงที่สถาบันการผลิตครูที่ต้องมีความเข้มข้นในการผลิต มีการพัฒนาและเตรียมความพร้อมผู้ที่จะมาเป็นครูเป็นอย่างดีแล้ว หรือหากใครประสงค์จะประกอบวิชาชีพครูต้องผ่านหลักสูตรที่เข้มข้นนี้ ขณะเดียวกันจะต้องมีความมั่นใจว่าสถาบันผลิตครูจะต้องไม่ใช่สถาบันธุรกิจการศึกษาหากำไร แต่คือสถาบันที่หล่อหลอมจิตวิญญาณของความเป็นครูโดยจะส่งผลสะท้อนต่อคุณภาพของผู้เรียนได้จริง
เรื่องสวัสดิการของครูก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นขวัญและกำลังใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ ที่ผ่านมาผู้เขียนได้รับเสียงสะท้อนมาว่า มีบ้านพักครูไม่เพียงพอ หรือมี แต่ บ้านพักครู นั้นมีการชำรุดทรุดโทรม อาจไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่มีความปลอดภัยต่อสวัสดิภาพของครู ซึ่งส่วนนี้ เป็นปัจจัยที่บั่นทอนกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของครู ขณะเดียวกัน ครูที่ไม่ได้อยู่บ้านพักกลับต้องหาเช่ารายเดือนอยู่ ซึ่งก็ทำการเบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้ ทั้งที่มีพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้าน อาจจะเป็นไปได้ว่า ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะมีสิทธิในการขอเบิกค่าเช่าบ้านหรือไม่อย่างไร แต่ที่แน่นอนที่สุด มีข้อเท็จจริงมาว่า ครูไม่ได้อยู่บ้านพัก เพราะบ้านพักมีไม่เพียงพอ จึงต้องเช่าบ้านอยู่เอง และเบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้
นอกจากนั้น ยังคงมีครูที่สะท้อนมาว่าต้องทำการออกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการจัดเรียนการสอนเอง ซึ่งก็อาจคงเป็นเช่นนั้นจริง เพราะรัฐอาจขาดงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอหรือไม่ หากเราเพียงหลับตานึกถึงโรงเรียนใหญ่ ๆ ที่มีความพร้อมกับโรงเรียนเล็ก ๆ ในชนบทหรือในแถบพื้นที่ห่างไกล จะเห็นได้ว่า น่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำกันในด้านต่าง ๆ อย่างจริงแท้
ครูเป็นทุกอย่าง
เมื่อกล่าวถึงโรงเรียนเล็ก ๆ ที่มีนักเรียนไม่มากเท่าไร จะพบว่านอกจากครูจะทำการจัดการเรียนการสอนโดยครูคนเดียวที่สอนครบทุกวิชาและครบทุกชั้นเรียนแล้ว ครูท่านนั้นยังต้องปฏิบัติงานเป็นนักการภารโรงไปจนถึงผู้อำนวยการโรงเรียน จนลืมความเป็นจริงไปว่า ครูท่านนั้น แท้จริงเพิ่งได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วย ยิ่งกว่านั้น ครูต้องเข้าเวรยามรักษาความปลอดภัยทุกวันหรือเกือบทุกวันเวียนกัน จนลืมไปเหมือนกันว่าครูก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล ซึ่งถ้าหากเข้าใจสภาพตรงนี้ว่าครูก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล ก็จะมิได้หมายความว่าครูขาดจิตวิญญาณของความเป็นครู ตรงกันข้าม
โดยข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็น การจัดคนต้องมีเพียงพอสัมพันธ์กับปริมาณงานที่มี คุณภาพงานจึงจะเกิดขึ้นได้จริง
ยังมีอีกหลายประการที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง แต่เชื่อว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ จะพอเป็นที่เข้าใจได้ หากรัฐกล้าลงทุนกับบริบทการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เช่น การจ้างงานในตำแหน่งสนับสนุน อย่างน้อยที่สุดอาจจะมีการจ้างงานในรูปแบบลูกจ้างชั่วคราวก็ยังพอทุเลาได้ เพื่อให้ครูได้มีเวลาในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ ไม่เอาเวลาไปปฏิบัติงานสนับสนุน จักคาดได้ว่า คุณภาพการศึกษายังพอจะเกิดขึ้นได้ ดังความเชื่อที่ว่า การศึกษาไม่ได้วัดกันที่จำนวนเงินว่าลงทุนไปเท่าไร แต่ความเจริญงอกงามของทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับกลับมา จะส่งผลดีต่ออนาคตของชาติในระยะยาว
ใครจะโทษครูว่าไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะโทษครูว่าไม่สามารถสร้างคุณภาพให้เกิดแก่ผู้เรียนได้เสียทีเดียว อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะในข้อเท็จจริง ครูยังขาดปัจจัยหรือตัวแปรที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของครูอันจะส่งผลให้คุณภาพผู้เรียนได้เกิดขึ้นจริง
หากการส่งเสียงนี้ ได้ยินถึงรัฐบาล ครูอยากจะร้องขอให้รัฐดำเนินการสร้างคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นจริง โดยไม่ต้องรอพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งมีข้อร้องขอต่อรัฐบาล ดังนี้
1) ขอให้สนับสนุนอุปกรณ์การจัดการเรียนการสอนและระบบคลื่นความถี่ให้เพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนของครู โดยครูไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
2) ขอให้กำหนดและจัดสรรอัตราในกลุ่มงานสนับสนุนให้เพียงพอ เพื่อให้ครูได้จัดการเรียนการสอนอย่างเดียว หรือมีงานอื่นที่รบกวนการปฏิบัติการสอนของครูให้น้อยที่สุด ครูจะได้มีเวลาทุ่มเทให้กับการสอนและดูแลผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
3) ขอให้ลดนโยบายในระดับต่าง ๆ และลดงานหรือการประเมินที่ไม่จำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอนลง ให้ครูได้มีเวลาทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการจัดประสบการณ์ตามหลักสูตรให้แก่ผู้เรียน
4) ขอให้หาจุดที่เหมาะสมในการกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพครู ให้มีความชัดเจนและมีความมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งจนครูเสียโอกาส และขอให้พิจารณาเปลี่ยนเกณฑ์การพัฒนาครูเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะเป็นลักษณะอื่นแทน ที่ไม่เป็นภาระแก่ครู
5) ขอให้จัดอัตรากำลังครูให้เพียงพอ โดยพึงพิจารณาให้มีครูครบชั้นและครบทุกกลุ่มวิชา
6) ขอให้งดหรือลดการอบรมครูในส่วนที่ไม่จำเป็น ซึ่งการพัฒนาครูควรจะอยู่ในขั้นตอนของสถาบันผลิตครู หรือการพัฒนาครูควรเกิดขึ้นจากหลักสูตรวิชาชีพครูที่มีความเข้มข้น ณ ขณะที่ยังศึกษาอยู่ในสถาบันผลิตครู เมื่อจบการศึกษาหรือจบหลักสูตรวิชาชีพครูมา จะต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมอย่างเข้มข้นแล้ว
7) ขอให้จัดสวัสดิการด้านที่พักอาศัยให้ครู โดยให้มีบ้านพักครูที่เพียงพอ หรือเอื้ออำนวยเรื่องการเบิกค่าเช่าบ้าน หรือจัดสรรเงินสวัสดิการอื่น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย
หากรัฐทำได้ตามข้อร้องขอ เชื่อว่าคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้จริงและมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา ประกอบมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะได้ไม่เกิดข้อครหาที่ว่า “เขียนการปฏิรูปการศึกษาไว้เป็นอย่างดี แต่ไม่เกิดการปฏิบัติให้ได้ผลจริง”