ข่าว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ติง หมูตายยัดโอ่งน้ำ ตอนเกิดเรื่องทำไมไม่แจ้ง (มีคลิป)

อธิบดีกรมปศุสัตว์ติง หมูตายยัดโอ่งน้ำ ตอนเกิดเรื่องทำไมไม่แจ้ง (มีคลิป)

13 ม.ค. 2565

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ถามผ่านรายการ "คมชัดลึก" กรณีหมูตายจำนวนมากจนฝังไม่ทัน ต้องหมักโอ่งทำน้ำจุลินทรีย์ ตอนเกิดเรื่องทำไมไม่แจ้ง

จากกระแสในสื่อออนไลน์หลังมีเจ้าของฟาร์มหมูแห่งหนึ่งใน อ.สามพราน จ.นครปฐม เผยแพร่ภาพ "ซากหมู" ที่คาดว่าติดเชื้อโรค ASF ตาย ถูกยัดเต็มโอ่ง จนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้างนั้น ในรายการ "คมชัดลึก" โดย วราวิทย์ ฉิมมณี วันนี้ ซึ่งมีแขกรับเชิญคือ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ช่วงหนึ่งได้หยิบยกกรณีนี้ขึ้นมาพูดคุย ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้ ช่วยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเมื่อเกิดเรื่องขึ้นแบบนี้ ตนเองก็คงต้องสอบสวนย้อนกลับไปทำไมขณะนั้นจึงไม่แจ้งมายังปศุสัตว์เลย
 
ขณะเดียวกัน นายวราวิทย์ ได้ถามว่าเหตุการณ์หมูตายจำนวนมากเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายฟาร์ม จึงมีข้อกล่าวหาว่ามีการปกปิดเพื่อเอื้อให้กับนายทุนขนาดใหญ่หรือไม่ ทั้งการเอื้อต่อการส่งออก และอีกด้านหนึ่งคือส่งผลให้ผู้เลี้ยงรายย่อยต้องหายออกไป เพื่อให้ทุนขนาดใหญ่ผูกขาด 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ตอบว่า ข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นความจริง จะทำเพื่ออะไร ผู้เลี้ยงรายใหญ่นั้นอยู่ในระบบฟาร์มมาตรฐาน อย่างไรธุรกิจก็ไปได้อยู่แล้ว ส่วนการส่งออกนั้นสามารถตรวจได้ที่กรมฯ เลยว่า ผู้ที่ส่งหมูไปยังเวียดนามหรือกัมพูชา มีแต่ผู้เลี้ยงรายกลางและรายย่อยเท่านั้น ไม่มีผู้เลี้ยงรายใหญ่สักราย เพราะผู้เลี้ยงรายใหญ่ตามที่ขายในห้างสรรพสินค้านั้นขายเฉพาะภายในประเทศ 

ส่วนที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ได้เปรียบ โดยเฉพาะในเวลาแบบนี้ ก็เพราะมีการลงทุนในระบบฟาร์ม ไบโอ ซิเคียวริตี้ สูงกว่า ซึ่งเป็นเรื่องทางธุรกิจ ตรงนี้ทำให้ป้องกันโรคได้ แต่รายย่อยนั้นไม่สามารถลงทุนได้ ทุกประเทศเองก็มีความเสี่ยงในส่วนผู้เลี้ยงรายย่อย ดังนั้นจึงต้องช่วยผู้เลี้ยงรายย่อยก่อน ตามที่รัฐบาลก็ชดเชยเฉพาะรายย่อย ส่วนรายกลางและรายใหญ่นั้นไม่ได้  

คลิกเพื่อชมคลิป

สำหรับฟาร์มหมูที่เป็นข่าวนั้น ตั้งอยู่เลขที่ 29/2 หมู่ 6 ต.สามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม  โดยมี นายชาตรี จิตรสมัคร หรือ เฮียแป้น เป็นเจ้าของฟาร์ม ซึ่งผู้สื่อข่าวตรวจสอบโอ่งขนาดใหญ่ 9 ใบ ภายในมีซากหมูตายจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง โดยนายชาตรี เปิดเผยว่า ซากหมูที่ตายมาจากฟาร์มของตนเอง ที่เลี้ยงไว้เกิดการติดเชื้อ ทำให้เก็บซากทิ้งไม่ทัน บางส่วนก็ฝังกลบดิน แต่ส่วนที่เหลือก็นำมาหมักใส่อีเอ็มให้เป็นจุลินทรีย์ และนำไปขายให้กับชาวบ้าน ที่ต้องการนำไปรดแปลงผักผลไม้ เพื่อสร้างรายได้