หัวหน้าพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้แถลง การเจรจา BRN คืบหน้า
ทีมพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนภาคใต้ แถลง การพูดคุยกลุ่ม BRN คืบหน้า ภายในปีนี้จะมองเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการลดความรุนแรง
วันนี้ (15) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ พร้อมด้วย พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 , พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 , พล.ท.สวัสดิ์ ชนะจิตราสกุล , นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. , พล.ต.ต.มณฑล บัวจีบ ,นายพลเทพ ธนโกเศศ และนางสาววันรพี ขาวสะอาด ร่วมกันแถลงข่าว ณ โรงแรม เลอเมอริเดียน ภูเก็ตบีชรีสอร์ท ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
สรุปผลความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุข หลังจากร่วมประชุมหารือกับคณะผู้แทน กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ BRN ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 11-12 มกราคม 2565 ซึ่งการพูดคุยคืบหน้าทั้ง 2 ฝ่าย และได้ร่วมกำหนดสารัตถะ 3 ข้อ คาดว่าปีนี้จะเห็นผลคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ผลการพูดคุยเมื่อวันที่ 11 และ 12 มกราคม ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝั่งไทยและคณะผู้แทน BRN นำโดย อุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน และคณะ โดยมี นายตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์อีก 2 คน บรรยากาศเป็นไปด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย มีท่าทีที่มีมิตรไมตรีต่อกัน
ทั้งนี้จากสถานการณ์โควิด ทำให้การเดินทางไปประชุมพูดคุยพบปะไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้การพูดคุยชะลอไป แต่ทั้งสองฝ่ายได้พยายามสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขผ่านทั้งทางออนไลน์ และช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้การพูดคุยมีความคืบหน้าและต่อเนื่อง จนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการประชุมแบบ Face to Face ที่ประเทศมาเลเซีย
โดยผลการหารือมีข้อสรุปใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ ประเด็นแรกคือ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยหารือและเห็นพ้องกันในหลักการทั่วไป ภายใต้กรอบสารัตถะ 3 เรื่อง คือ
1. การลดความรุนแรง
2. การปรึกษาหารือของประชาชนในพื้นที่
3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง
ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นไปตามเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และครอบคลุมทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือการอยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่ การใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน และอยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า อันจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขอย่างถาวรยั่งยืนต่อไป
ประเด็นที่ 2 การจัดตั้งกลไกเพื่อขับเคลื่อนสารัตถะของการพูดคุย โดยมีการพิจารณาจัดตั้ง ผู้ประสานงาน Joint working group ขึ้นมาในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการลดความรุนแรงและการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ ส่วนประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและละเอียดค่อนข้างมาก จะใช้การจัดตั้ง Joint study group เพื่อศึกษาในรายละเอียดหาแนวทางที่เหมาะสม
ทั้งนี้การจัดตั้งดังกล่าวจะมีลักษณะแบบกึ่งทางการ ที่สามารถพบปะหารือติดต่อพูดคุยกันได้โดยตรง เพื่อกำจัดจุดอ่อนในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาด ที่ทำการประชุมอย่างเป็นทางการทำได้ค่อนข้างยาก การจัดตั้งลักษณะนี้ก็จะช่วยผลักดันให้ประเด็นสารัตถะต่าง ๆ คืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ประเด็นที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยหยิบยกขึ้นมา คือการลดกิจกรรมความรุนแรงลงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยความสมัครใจ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพูดคุยครั้งต่อไป รวมทั้งต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงประโยชน์ของการพูดคุย ที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในพื้นที่ โดยคณะพูดคุยฝั่งไทยและกองทัพภาคที่ 4 ได้เตรียมการเรื่องดังกล่าวไว้บางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม การพูดคุยครั้งต่อไปจะมีการหารือในที่ประชุมว่า จะมีการพูดคุยกัน 2-3 เดือนต่อครั้ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดด้วย
พล.อ.วัลลภ กล่าวทิ้งท้ายโดยยืนยันว่า คณะพูดคุยมุ่งมั่นดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนผลักดันให้กระบวนการพูดคุยเป็นหนทางที่สามารถสร้างสันติสุขในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่กลุ่มขบวนการ BRN รวมถึงภาคประชาชน เพื่อมาแสวงหาทางออกร่วมกันต่อไป
โดยตลอด 2 ปีที่มีการพูดคุยกับกลุ่ม BRN จากช่วงแรกที่มีความไม่วางใจกัน จนถึงขณะนี้เริ่มมีความเชื่อมั่นกันพอสมควร ผลจากการพูดคุยครั้งนี้ ถือว่ามีความก้าวหน้าที่ดีมาก นำมาสู่การกำหนดหัวข้อประเด็นสารัตถะกันได้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้กระบวนการพูดคุยดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดย 1 ปีหลังจากนี้ จะมองเห็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการลดความรุนแรง และการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ หลังจากนี้ คณะพูดคุยจะต้องเร่งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบ คาดว่าภายใน 2 ปีนี้จะเห็นความคืบหน้าในการพูดคุยเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมืองได้ต่อไป