ข่าว

ไพศาล โพสต์  บัญชีอัปยศ : "4 สนามบิน" สร้างเสร็จแต่ไร้เครื่องบินพาณิชย์ไปใช้

ไพศาล โพสต์ บัญชีอัปยศ : "4 สนามบิน" สร้างเสร็จแต่ไร้เครื่องบินพาณิชย์ไปใช้

16 ม.ค. 2565

อดีตที่ปรึกษาบิ๊กป้อม ไพศาล พืชมงคล โพสต์ บัญชีอัปยศ : 4 สนามบินสร้างเสร็จ- เบตง-เพชรบูรณ์- โคราช 2 แห่ง แต่ไร้เครื่องบินพาณิชย์ลงไปใช้ ถามหาคนรับผิดชอบ -ตรวจสอบปัจจุบันสนามบินดังกล่าวมีแต่เที่ยวบินของราชการ เที่ยวบินส่วนบุคคล และใช้เป็นที่ฝึก ของนักเรียนการบิน

ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษาพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ  โพสต์เฟซบุ๊กว่า บัญชีอัปยศ : "สนามบิน"สร้างเสร็จแล้ว ยังไม่มีเครื่องบินพาณิชย์ไปลงใช้

 

1.สนามบินเบตง

 

2.สนามบิน เพชรบูรณ์

 

3.สนามบินโคราช 2 แห่ง

 

รวมเป็น" 4 สนามบิน"


มี 3 เรื่องที่ต้องพิจารณาคือ 

 

1 มีใครต้องรับผิดชอบ ในการทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างนี้ 

 

2 จะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ใช้ได้คุ้มค่าที่รัฐได้ลงทุนไปแล้ว

 

3 ควรจะตรวจสอบทั่วประเทศว่ามี "สนามบิน" ใดอีกบ้างที่ร้างหรือเครื่องบินลงไม่ได้

 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า "สนามบิน" ทั้ง 4 สนามบิน ตามที่นายไพศาล  อ้างถึงพบว่า ปัจจุบัน เครื่องบินพาณิชย์ ไม่ได้ลงใช้ มีเพียงแต่เที่ยวบินของทางราชการ เที่ยวบินส่วนบุคคล และใช้ฝึกนักเรียนการบิน  มีรายละเอียดดังนี้


สนามบินเบตง


กรมท่าอากาศยาน ได้เคยชี้แจงกรณีสนามบินเบตง ว่า ได้ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558

 

วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


ขณะนี้ได้มีสายการบินขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง คือ 1.หาดใหญ่-เบตง-หาดใหญ่ และ 2.ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่อง

 

 


 

ทั้งนี้ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 60 แล้วเสร็จเมื่อปี 62 อาคารที่พักผู้โดสาร มีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร(ตรม.) สามารถรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ประมาณ 300 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้ 876,000 คนต่อปี มีขนาดความยาวทางวิ่ง(รันเวย์) 1,800 เมตร สามารถรองรับได้เฉพาะอากาศยานขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินแบบใบพัด ATR ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อขยายความยาวรันเวย์เพิ่มเป็น 2,500 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้

 

สนามบินเพชรบูรณ์

ส่วนกรณีสนามบินเพชรบูรณ์นั้น  กรมท่าอากาศยาน (ทย.)ได้ชี้แจงว่า ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ได้เปิดให้บริการในปี 2543 โดยจังหวัดเพชรบูรณ์ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวจึงได้มีการเปิดใช้ท่าอากาศยานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางมาในพื้นที่ ซึ่งมีสายการบินพาณิชย์ให้บริการมาเป็นระยะ

 

โดยที่ผ่านมากรมท่าอากาศยาน มีแผนที่จะดำเนินการปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังเดิมให้สามารถใช้งานอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมีการคำนวณงบประมาณสำหรับการปรับปรุงอาคารเก่าปรากฏว่าค่อนข้างสูง

 

ประกอบกับในปี 2561 ได้รับแจ้งจากสายการบินว่า มีแผนที่จะใช้อากาศยานขนาด 70-80 ที่นั่งมาให้บริการที่ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับการให้บริการดังกล่าว กรมท่าอากาศยานจึงขอรับงบประมาณและได้รับการจัดสรรในปี 2562-2563 เพื่อก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 คนต่อชั่วโมง โดยใช้วงเงินงบประมาณ 40 ล้านบาท ออกแบบลักษณะอาคารเป็นแบบเปิดโล่ง เพื่อลดการใช้ระบบปรับอากาศที่มีค่าบำรุงรักษาสูง มีระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐาน เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2563

 

ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้สายการบินที่มีแผนจะทำการบินต้องทบทวนการลงทุนและเลื่อนการดำเนินการออกไปก่อน อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานเพชรบูรณ์มีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารเมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติต่อไป

 

ปัจจุบันท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ได้มีการเปิดให้บริการเที่ยวบินทางราชการ เที่ยวบินฝึกบินของโรงเรียนการบิน และเที่ยวบินส่วนบุคคล

 

สนามบินโคราช 2 แห่ง


นับตั้งแต่โคราช ได้ย้ายสนามการบินพาณิชย์จากสนามบินกองบิน 1 อ.เมือง ออกไปใช้ "สนามบิน"ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่มูลค่าเกือบ 2,000 ล้านบาทของกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม คือ ท่าอากาศยานนครราชสีมา บริเวณหนองเต็ง-จักราช ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ ราวปี 2537 ปรากฏว่า สายการบินต่าง ๆ ที่เปิดเส้นทางการบินมา โคราช ก็อยู่ได้ไม่นาน ล้วนประสบปัญหาต้องยกเลิกทำการบิน และก่อให้เกิดสภาวะสนามบินร้างอยู่เป็นประจำ 

 

เริ่มจาก การบินไทย ที่เป็นเจ้าแรกในฐานะเจ้าของสัมปทานเส้นทางการบินกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ก็อยู่ได้ราว 2 ปีก็ยกเลิก เพราะขาดทุนผู้โดยสารมาใช้บริการน้อย หลังจากนั้นเป็นสนามบินร้างอยู่ 2-3 ปี 

 

ต่อมา แอร์อันดามันได้เข้ามาช่วงปี 2542-2543 ภายใต้การพยายามประคับประคองช่วยเหลือจากการบินไทย ด้วยการซื้อที่นั่งช่วยจำนวน 10 ที่นั่งในทุกเที่ยวบินแต่ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ จากนั้นการบินไทยกลับมาบินเองอีกครั้ง อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ต้องเลิกราไปและปล่อยให้เป็นสนามบินร้าง ตั้งแต่ปลายปี 2544 เป็นต้นมา ต่อด้วยไทยแอร์เอเชีย ที่นำสายการบินราคาประหยัดเข้ามาบิน เพื่อหวังให้อยู่ได้ แต่ต้องปิดตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยสาเหตุเดียวกัน

 

พ.ศ. 2553 สายการบินแฮปปี้แอร์เปิดเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และแผนเปิดเส้นทางบินไปยังเชียงใหม่และหัวหิน พ.ศ. 2554 สาการบินไทยรีเจียนัลแอร์ไลน์สเริ่มทำการบินกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แต่เนื่องจากท่าอากาศยานแห่งใหม่นี้อยู่ห่างตัวเมืองมาก ประกอบกับปัญหาด้านการคมนาคมเข้าสู่สนามบิน ทำให้ไม่เป็นที่นิยมใช้บริการ จนสายการบินต้องยกเลิกทำการบินไปในที่สุด


ปี 2558 สายการบินกานต์แอร์เปิดเส้นทางการบินเชื่อมภูมิภาคนครราชสีมา - เชียงใหม่ และต่อมาต้องยกเลิกการทำการบิน เนื่องจากปัญหาด้านใบอนุญาตทำการบิน

 

พ.ศ.2560 สายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส เปิดให้บริการเส้นทางบินนครราชสีมา - เชียงใหม่, ภูเก็ต และดอนเมือง ต่อมาต้องยกเลิกการทำการบิน เพราะจำนวนผู้โดยสารไม่เข้าเป้า เกิดการขาดทุนสะสมจึงยกเลิกไป 

 

หากย้อนไปช่วงปี 2529-2537 ในขณะที่ยังใช้สนามบินกองบิน 1 ขณะนั้นถึงแม้ค่าตั๋วจะอยู่ในอัตราที่แพงก็ยังประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมจากประชาชน นักธุรกิจ ข้าราชการหรือนักการเมืองมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะสะดวกสบายและอยู่ใกล้ตัวเมือง

 

ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ปัจจัยหลักที่การเดินทางโดยเครื่องบินของจังหวัดนครราชสีมาไม่ได้รับความนิยม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราราคาค่าโดยสารเพียงอย่างเดียว แต่หัวใจสำคัญของปัญหาอยู่ที่  สนามบินหนองเต็ง-จักราช อยู่ไกลจากตัวเมืองมากเกินไปถึง 30กิโลเมตร ซึ่งต้องเสียเวลาเดินทางไปสนามบินไม่ต่ำกว่า 45 นาที รวมทั้งหมดแล้วกว่าเครื่องจะบินถึงกรุงเทพฯต้องใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง เมื่อเทียบแล้วกลับช้าและยุ่งยากกว่าการเดินด้วยรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ซึ่งขัดกับหลักของ
ความเป็นจริงที่ต้องจ่ายแพงกว่า แต่กลับยุ่งยากไม่สะดวกและเสียเวลามากกว่า


ปัจจุบันท่าอากาศยานนครราชสีมาเป็นท่าอากาศยานศุลกากร และได้ใช้เป็นพื้นที่เพื่อฝึกนักเรียนการบิน ของโรงเรียนการบินกรุงเทพ, ของบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ BAC