เดียร์ วทันยา เดินหน้ารับฟังหาทางออก "ภาษีหุ้น-ภาษีคริปโต"
สมาคมฟินเทค ร้องขอทบทวนการเก็บ "ภาษีคริปโต" ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐและโฆษก กมธ. การเงินฯ สภาผู้แทนฯ เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี เตรียมนำเรื่องถก กมธ.การเงินฯ -หน่วยงานเกี่ยวข้อง
17 ม.ค. ที่โรงแรม Westin Grande Sukhumvit นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจากสมาคมฟินเทค ประเทศไทย นำโดย นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฯ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา รองนายกสมาคมฯ และคณะ ถึงกรณีขอให้รัฐบาลทบทวนการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ "คริปโตเคอร์เรนซี"
โดยนางสาววทันยา กล่าวว่า จากที่ตนได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์และได้ร้องเรียนความเดือดร้อนมาที่ตน จึงได้มีการนำเรื่องเข้าสู่กมธ. ขอให้เชิญกรมสรรพกรเข้ามาชี้แจงในรายละเอียด แนวทางที่มาที่ไปวิธีการทั้งหลาย เดิมทีเรื่องนี้ถูกบรรจุเข้าสู่การประชุมของกมธ. ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ม.ค.
แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทางรัฐสภาฯ จึงได้เลื่อนการเปิดออกไป ทั้งนี้ช่วงหลังปีใหม่ก็ได้มีประเด็น "ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี"ขึ้นมาอีก ซึ่งเข้าใจว่าตัวปัญหาการจัดเก็บภาษีของคริปโตเคอร์เรนซีจะคล้ายกับของทางตลาดทุน แต่จะต่างที่ทางตลาดทุนมี พ.ร.บ. ขอให้เวฟเรื่องค่าภาษีออกเพื่อส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ไทยให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยกฎหมายของทาง "คริปโตฯ" ออกมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ในแง่ดำเนินการจริงยังไม่ได้มีการจัดเก็บตามที่กฎหมายได้ออกมา
ส่วนนี้อาจจะยังเป็นประเด็นคำถามว่า ถ้ากรมสรรพกรจะบังคับใช้อย่างจริงจังและพยายามเร่งรัดเพื่อบังคับใช้ให้นักลงทุนยื่นรายได้ส่วนบุคคลในช่วงเดือนมี.ค. 2565 ซึ่งเป็นรายได้ของปี 2564 สิ่งที่จะเกิดตามมาอาจจะไม่ใช่แค่ปี 2564 แต่จะย้อนกลับไปตั้งแต่กฎหมายออกมาในปี 2561 เพราะไม่เคยมีพ.ร.บ. ที่ออกมาให้เวฟเรื่องค่าภาษีเหล่านี้ ช่องว่างในส่วนนี้จะดำเนินการอย่างไร
รวมถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในกระแสสังคมโซเชียลมีเดีย เรื่องวิธีการจัดเก็บที่ชัดเจน การปฏิบัติได้จริง และในแง่ของสภาพอุตสาหกรรมโดยรวม จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่ง "คริปโต" กำลังจะเป็นตลาดของเจเนอเรชันที่สองที่กำลังเติบโตขึ้น ดังนั้นช่วงนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะจัดเริ่มเก็บภาษี หรือควรจะสนับสนุนในแง่อุตสาหกรรมโดยรวมให้เติบโตไปได้มากกว่านี้ และหากจะต้องจัดเก็บภาษีจริง ๆ ในแง่ต้นทุนจะต้องจัดเก็บเท่าไหร่ถึงจะไม่เป็นภาระเกินไป และสุดท้ายด้วยกฎของรัฐจะไม่เป็นการบอนไซตลาดในประเทศของเรา รวมถึงผู้ประกอบการที่จะเติบโตไม่ได้
การที่เชิญหน่วยงานมาพูดคุยใน กมธ.ในวันพุธที่จะถึงนี้ ที่จะมีการประชุมออนไลน์ ถือเป็นการเปิดเวทีกลางให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยและร่วมหารือกันแต่สิ่งที่คาดหวังในเวทีนี้ คือการที่เราเป็นคนกลางได้รับความเห็นจากทุกฝ่าย การจะจัดเก็บภาษีที่ทางกระทรวงการคลังออกมาเป็นกฎหมายและมีเป้าหมายของเขา ซึ่งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่จะต้องมีการใคร่ครวญให้ละเอียดรอบครอบกว่านี้
เช่น การบังคับใช้กฎหมายหากเร่งให้ทันในช่วง มี.ค. จะมีคำถามว่านักลงทุนในปี 2564 จะต้องนำรายได้มาคำนวณในภาษีเงินได้ และหากไม่ได้เริ่มเล่นในปี 2564 แต่เริ่มก่อนหน้านั้นจะต้องทำอย่างไร กรมสรรพากรจะมีนโยบายที่จะปฏิบัติกับนักลงทุนก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง ดังนั้นกรมสรรพากรชะลอเรื่องออกไปก่อนได้หรือไม่ เพื่อที่จะได้รับความชัดเจนครบถ้วน นางสาววทัน
ยา กล่าว
ขณะเดียวกัน เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า เดินหน้ารับฟังหาทางออกภาษีหุ้น-ภาษีคริปโตฯ
เมื่อวานนี้เดียร์ในฐานะ กรรมาธิการการเงินและการคลังฯได้มีโอกาสหารือกับคณะผู้บริหารสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณชลเดช เขมะรัตนา ในฐานะนายกสมาคมฯและ คุณท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ในฐานะรองนายกสมาคมฯ พร้อมสมาชิกท่านอื่น เกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐทบทวนชะลอการจัดเก็บ"ภาษีคริปโตฯ" ที่กรมสรรพากรเร่งออกรายละเอียดเพื่อให้ทันต่อการจัดเก็บภาษีส่วนบุคคลปี 64 ที่จะครบกำหนดยื่นชำระภาษีในเดือนมี.ค.65 นี้ออกไปก่อนเพื่อให้สามารถพิจารณารายละเอียดการจัดเก็บ
ภาษีได้อย่างรอบคอบ ไม่เป็นการทำลายอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีบล็อคเชนถือเป็นโลกของอนาคตก่อนที่อุตสาหกรรมจะมีโอกาสเติบโต เพราะนั่นถือเป็นการทำลายโอกาสของประเทศไทยเราเอง
เดียร์ ในฐานะกรรมาธิการจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับคณะกรรมาธิการในการเป็นเวทีกลางเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ร่วมนำเสนอข้อมูลให้กรมสรรพากร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับฟังข้อห่วงใยจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบถ้วนอย่างแท้จริงก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายต่อไป คาดว่าน่าจะได้มีโอกาสเชิญทุกฝ่ายเข้าร่วมหารือภายในช่วงสัปดาห์นี้ที่รัฐสภากลับมาเปิดประชุม
ด้านนายชลเดช นายกสมาคมฟินเทค ประเทศไทย กล่าวว่า ในเรื่องของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนตัวมองว่าคงไม่ขอให้ไม่เก็บเลย แต่เบื้องต้นเรามองว่าการเก็บเฉพาะธุรกรรมที่กำไรอย่างเดียวโดยไม่ดูผลกลับคืน ไม่ได้เอามาหักล้างกันไม่เป็นธรรม และไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน ฉะนั้นข้อแรกเรา
อยากให้กรมสรรพกรไปทบทวนเรื่องนี้ก่อน
หลังจากนั้นขั้นตอนต่อไปจะมองถึงเรื่องการขอให้เป็น Final Tax โดยยกตัวอย่างภาษีเงินได้ที่เกิดจากเงินปันผล ทั้งนี้ทุกคนหากซื้อหุ้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่กับการจะไปขอเครดิตคืนหรือไม่ ถ้าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วเราขอในลักษณะเดียวกัน อาจจะเป็น 10 หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมา เช่นนี้ในแง่ระบบคิดว่าจะทำได้เป็นการ Offset กัน และเป็น Final Tax
ส่วนการส่งเสริมไม่ให้เก็บภาษีเลยพวกเราต้องพิสูจน์ว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
ก่อให้เกิดการระดมทุนภายใต้การสร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้กลุ่มภาคการผลิตเกิด GDP จริง ๆ เช่น ที่ตลาดทุนมีการระดมทุน ถ้าทำแบบนี้อาจจะขอเรื่องการส่งเสริมจากทางภาครัฐได้นั่นเอง
ขณะที่นายจิรายุส กล่าวว่า ตลาดทรัพย์สินดิจิทัล ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือการลงทุน Real Center แต่สิ่งที่เรากำลังสร้างคือโลกใหม่ กำลังสร้างสิ่งที่เรียกว่าWed 3.0 ซึ่งตนไม่อยากให้อุตสาหกรรมนี้ไปเกิดที่ต่างประเทศ ดังนั้นตอนนี้สิ่งที่อยากให้ทำคือการเวฟภาษี 2 ปี เพราะเป็นสิ่งที่ยุติธรรม เนื่องจากว่ากฎหมายยังไม่มีความพร้อม ออกมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และอยู่ดีๆ จะมาเรียกเก็บภาษีในทันทีซึ่งไม่ทันต่อผู้ใช้ ดังนั้นอย่างน้อยจึงควรเว้นระยะเวลา 2 ปี ในการคิดที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศจริง ๆ ไม่ใช่รีบนำออกมาบังคับใช้ ทั้งที่กฎหมายไม่พร้อม จนทำให้หลายสิ่งไม่สามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยและทำให้เกิดการขาดดุลอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตามหากผ่านช่วงระยะเวลา 2 ปีแล้วจะต้องมีการเก็บภาษีจริงๆ ต้องทำอย่างไรให้เมืองไทยถือปืน ต่างชาติถือมีด ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมนี้จะไปเติบโตที่ต่างประเทศถ้าเมืองไทยถือมีด ต่างชาติถือปืน นอกจากนี้บริษัทบิทคับฯ ขอเสนอไปยังผู้บริหารรัฐบาลไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนการเก็บ"ภาษีคริปโตฯ" 15 เปอร์เซ็นต์ โดยการชะลอภาษีออกไปเป็นการชั่วคราวและมอบหมายให้กรมสรรพกรเปิดการรับฟังความเห็นจากทั้งผู้ประกอบกิจการ นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อจะได้นำข้อมูลมาพิจารณาหามาตรการด้านภาษีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศ