"โอไมครอน" ตายแล้ว 2 เป็นผู้ป่วยสูงอายุ-โรคประจำตัว จากสงขลาและอุดร
กระทรวงสาธารณสุข แถลงพบผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตจาก "โอไมครอน" แล้ว 2 ราย จากจังหวัดสงขลา และอุดรธานี เป็นหญิงสูงอายุ และมีโรคประจำตัว ย้ำอย่าเร่งด่วนสรุปความรุนแรงของ "โอไมครอน" โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาจมีความรุนแรงและอาการหนักได้
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค และภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าว กรณีพบผู้เสียชีวิตจาก "โอไมครอน" ในประเทศไทย 2 รายว่า สำหรับกรณีการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด -19 รายแรกที่มีการยืนยันสายพันธุ์ "โอไมครอน" เป็นรายที่รายงานมาจากจังหวัดสงขลา เป็นหญิงไทยอายุ 86 ปี อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นอัลไซเมอร์ เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงทั้งสูงอายุและมีโรคประจำตัว ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 พบว่าหลานชายที่เดินทางกลับมาจังหวัดภูเก็ต ตรวจพบเป็นผู้ป่วยยืนยัน และก็ยืนยันด้วยว่าเป็นสายพันธุ์ "โอไมครอน" ทำให้คนในครอบครัวมีการติดเชื้อ และวันที่ 6 มกราคม ผู้ป่วยมีอาการมีไข้ มีเสมหะ และทราบข่าวว่าลูกสาวตรวจพบเชื้อก็เลยตรวจหาเชื้อด้วย ATK ผลเป็นบวก จึงถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ในวันที่ 7 มกราคม ได้เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่หาดใหญ่ มีการเก็บตัวอย่าง NPS ผลยืนยันติดเชื้อ ผู้ป่วยมีไข้ 38.5 องศาเซลเซียส หายใจลำบาก ไอ แพทย์รับไว้ที่แผนก CICU เอกซเรย์ปอด ผลคือมีความผิดปกติในเนื้อปอด และ ได้ใส่ท่อช่วยหายใจในการรักษาวันที่ 12 มกราคม ผู้ป่วยเสียชีวิต ในเวลา 9:20 น ผลการตรวจยืนยันสายพันธ์ว่าเป็น "โอไมครอน"
ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวได้ว่า ถึงแม้ในภาพรวม "โอไมครอน" อัตราเสียชีวิตจะเป็นร้อยละที่ไม่ได้สูง แต่อย่างที่องค์การอนามัยโลกได้กล่าวเอาไว้ตลอดว่า อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุป ในกรณีของแต่ละคนถ้าเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีอาการที่หนัก รุนแรงขึ้นมาได้อย่างเช่นรายนี้
อีกรายหนึ่งเป็นที่จังหวัดอุดรธานี เป็นหญิงไทยอายุ 84 ปี มีโรคประจำตัวคือมะเร็งปอดระยะสุดท้าย รักษาแบบประคับประคอง ใช้ออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้รับวัคซีนโควิดเนื่องจากเป็นผู้ป่วยติดเตียง สำหรับประวัติเสี่ยง คือว่าคนในครอบครัว เป็นผู้ติดเชื้อโควิด -19 โดยที่ลูกชายของผู้เสียชีวิตมีการได้ไปสังสรรค์กับเพื่อนที่ต่างอำเภอ แล้วก็พบว่าในกลุ่มคนที่ได้พบปะสังสรรค์มีการติดเชื้อ เลยมาตรวจโดยที่ไม่ได้มีอาการ โดยตรวจหาเชื้อวันที่ 9 มกราคม และวันที่ 10 มกราคมผลตรวจก็พบการติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยและญาติปฏิเสธการเข้ารักษาในโรงพยาบาลแพทย์อนุญาตให้เข้าสู่ระบบ Home Isolation ตามความประสงค์ของผู้ป่วยและญาติ ให้ยาตามแผนการรักษา ติดตามอาการอยู่โดยตลอด ในระหว่างที่ดูแลหลังวันที่ 10 มกราคม ผู้ป่วยก็ไม่ได้มีไข้ แต่มีอาการรับประทานอาหารได้น้อยลง ระดับออกซิเจนค่อย ๆ ลดลง ในวันที่ 15 มกราคม เริ่มมีอาการเหนื่อย หายใจหอบ ออกซิเจนในตรวจเลือดออกมาค่อนข้างต่ำมาก มีการประสานผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาลญาติปฏิเสธ จึงได้ทำการรักษาตามความประสงค์ต่อมาเวลา 16:00 น.ก็ตอบสนองน้อยลงและเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 19:45 น.ซึ่งก็อยู่ในการรักษาแบบ Home isolation 6 วันซึ่ง ก็เป็นรายที่ 2 ของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" ทั้ง 2 ราย ก็จะเห็นความเสี่ยงในเรื่องของการสูงอายุแล้วก็มีโรคประจำตัว