ปลอดภัยแล้ว "ผู้ป่วย HIV" ติดเชื้อ "โควิด" ได้รับการรักษา สภาพจิตใจดีขึ้น
ทีมเส้นด้าย เผย "ผู้ป่วย HIV" ติดเชื้อ "โควิด" สภาพจิตใจดีขึ้น หลังได้รับการรักษาที่ฮอสพิเทล ฝากการทำงานภาครัฐ อย่าช้า ทำให้เชื้อแพร่กระจาย
จากกรณี ผู้ป่วยHIV ติดเชื้อโควิด แล้วถูกสถานพยาบาลปฏิเสธเข้ารับการรักษา เนื่องจากไม่ต้องการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตนเอง ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีเชื้อHIV ที่ติดโควิด ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก
ล่าสุดทีมข่าว "คมชัดลึกออนไลน์" ได้สอบถามไปยังทีม "เส้นด้าย" อาสาสมัครรับ-ส่ง ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้มีความเสี่ยงสูง โดยได้พูดคุยกับ คุณวีรวุธ รักเที่ยง เส้นด้ายทีมลาดกระบัง ที่เป็นผู้ดูแลเคส ผู้ป่วยHIV ติดเชื้อโควิด โดยตรง
โดย คุณวีรวุธ เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อ HIV ที่ติดโควิด มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่มาก เพราะอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อน เพื่อนที่อยู่ด้วยกัน ได้เข้ารับการรักษาหมดแล้ว เหลือเขาตัวคนเดียว ทั้งยังอดข้าวไป 2 วัน เพราะกักตัวเองไว้ในห้อง รับผิดชอบสังคม ไม่ออกไปไหน เพราะกลัวแพร่เชื้อโควิด สภาพที่เจอครั้งแรกคือ เพลีย เพราะอดข้าว มีอาการ ตัวสั่น และ ร้องไห้ด้วยความสิ้นหวัง ซึ่งที่จุกที่สุด คือ ผู้ป่วยก้มกราบขอบคุณ เพราะกลัวไม่มีใครมารับไปรักษา กลัวคนรังเกียจ เพราะเขาเป็นผู้ติดเชื้อ HIV
โดยล่าสุด ทางทีม "เส้นด้าย" ได้ทำการประสานไปยังโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแล และก็ได้เป็น "ฮอสพิเทล" เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาโควิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากที่ได้เข้ารับการรักษา สภาพจิตใจก็ดีขึ้น เพราะได้เจอเพื่อน และได้เข้ารับการรักษาตามระบบ
สำหรับเคสนี้ ผู้ป่วย HIV ได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม โดยเข็มล่าสุด คือ ไฟเซอร์ จึงทำให้ยังมีอาการไม่หนักมาก จัดเป็น ผู้ป่วยสีเขียว
สำหรับ สถานการณ์คนโทรมาขอเตียง คุณคริส ผู้ก่อตั้ง "เส้นด้าย" อาสาสมัครรับ-ส่ง ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้มีความเสี่ยงสูง เปิดเผยว่า สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ยังคงทรงๆ อยู่ที่ 200-300 สาย ยังไม่มียอดสูงจนน่าตกใจ แต่ก็ยังไม่ไว้วางใจ ยังคงให้ประชาชนดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย และงดการรวมกลุ่มสังสรรค์ เหมือนเดิม
ทั้งยังฝากการทำงานถึงภาครัฐ โดยเฉพาะระบบสาธารณะสุขในต่างจังหวัด ที่ขณะนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะมีการทำงานที่ล่าช้า โดยเคสที่ตนเองพบเจอด้วยตัวเองคือ การให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดกลับบ้าน หลังจากมีการตรวจ RT-PCR เพื่อรอทางโรงพยาบาลคอนเฟิร์มในการเข้ารับการรักษาตัว ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้มากที่สุด บางเคสเป็นคนเดียว แต่พอกลับบ้าน ทำให้ไปติดญาติพี่น้อง และขยายวงกว้างออกไปอีก จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐทำงานส่วนนี้ให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น