"ส้มตำ" อีสานเดือด "มะละกอ" มหาโหด โขกราคาทะลุ 200 บาท
แม่ค้า "ส้มตำ" ศรีสะเกษโอด "มะละกอ" ปรับราคาขึ้นแพงหูฉี่ จาก 40-50 บาท ทะลุเป็น 200-300 บาท ต่อ 10 กิโลกรัม ขณะที่ราคาพริก-มะเขือเทศ ซึ่งเป็นส่วนผสมพาเหรดขึ้นราคา วอนรัฐเร่งแก้ไข
จากกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อ ASF ในสุกร หรือเชื้อ "อหิวาต์ แอฟริกา" ในสุกร ส่งผลทำให้ราคาสุกรชำแหละ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสุกรที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ มีอาการป่วยและล้มตาย จนทำให้เนื้อสุกรขาดตลาด ขณะเดียวกันผลผลิตทางด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ทั้งไก่ ปลา ไข่ไก่ และผัก ต่างขยับราคาเพิ่มสูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน
เกี่ยวกับปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาแพงนั้น นางพิสมัย พาคำสุข เจ้าของร้านส้มตำหน้าวัดเจียงอี จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า หลังจากที่เนื้อสุกร และเนื้อสัตว์หลายประเภท รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรได้มีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว ขณะนี้มะละกอ ก็มีราคาปรับตัวสูงไปด้วยเช่นกัน จากเดิมที่เคยซื้อมาทำส้มตำ เพื่อขายให้กับผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไป ในราคา 40-50 บาท ต่อ 10 กิโลกรัม ขณะนี้ได้มีการปรับราคาขึ้นมาอยู่ที่ 180-200 บาท และหากมะละกอที่พันธุ์ดีๆ ก็จะตกอยู่ที่ 300 บาท ต่อ 10 กิโลกรัม
ราคามะละกอดิบ ได้มีการปรับขึ้นราคา มาตั้งแต่ก่อนปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ "อหิวาต์ แอฟริกา" ในสุกร อย่างหนักทั่วประเทศ ทั้งนี้ ราคามะละกอที่ว่าแพงแล้ว ยังทำให้พืชผักที่เป็นส่วนผสมในการทำส้มตำ ทั้ง พริก มะเขือเทศ ต่างมีการปรับราคาขึ้นตามไปด้วย อย่างเช่นก่อนหน้านี้ ราคามะเขือเทศ สูงถึง 300 บาท ต่อ 10 กิโลกรัม แต่ในระยะหลังเริ่มขยับราคาลดลงมานิดหนึ่ง แต่ก็ยังถือว่ามีราคาที่สูงมาก
"ราคามะละกอ มะเขือเทศ และพริก ที่ขยับราคาสูงขึ้น แต่ทางร้านต้องแบกรับภาระ ในการขายส้มตำในราคาเดิม ถึงต้นทุนจะสูงขึ้น แต่ก็ต้องยอมขายส้มตำในราคาเก่า เพราะว่าเราสงสารลูกค้า และอยากจะรักษาลูกค้าเอาไว้ด้วย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตร กระทรวงพานิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วย เพราะขณะนี้ ทั้งคนขายส้มตำ และชาวบ้าน กำลังเจอกับวิกฤตสินค้าต่างๆ ที่มีการปรับราคามากขึ้น" เจ้าของร้านส้มตำหน้าวัดเจียงอี กล่าวยืนยัน
ขณะเดียวกัน พ่อค้า-แม่ในตลาดสด กล่าวยอมรับว่า ราคามะละกอดิบ และผักต่าง ๆ มีราคาสูงมากขึ้นจริงๆ แต่วานนี้ 17 ม.ค. ได้เริ่มปรับตัวลดลงบ้างแล้ว โดยราคามะละกอ ถุงละ 10 กิโลกรัมจะอยู่ที่ 130-150 บาท ซึ่งเป็นเพราะชาวบ้านที่ทำนาเสร็จ ได้ปลูกผักไปจำหน่าย ทำให้มีผลิตผลทางการเกษตรของชาวบ้าน ได้ออกสู่ตลาดมาบ้างแล้ว ทำให้ราคาผักต่าง ๆ เริ่มลดราคาลง เป็นไปตามฤดูกาล