เกษตรกรวอน "เขื่อนลำปาว" เพิ่มการระบายน้ำ ทั้งข้าวทั้งกุ้งใกล้ตายแล้ว
ชาวนาปรัง - ผู้เลี้ยงกุ้ง กาฬสินธุ์ วอน "เขื่อนลำปาว" เพิ่มปริมาณปล่อยน้ำ หลังระบายจากตัวเขื่อนตั้งแต่ 4 มกราคม แต่กว่า 10 วัน น้ำยังมาไม่ถึง หว่านข้าวนาปังรอจ่อตายแล้ง บ่อกุ้งก็น้ำไม่พอ คนท้ายน้ำต้นน้ำหวิดวางมวย
ผู้สื่อข่าวติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของชาวบ้านใน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว หรือเขื่อนลำปาว โดยมีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและทำนาปรังกันเป็นบริเวณกว้าง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ซึ่งชาวนาและผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามต่างมีความหวังที่จะได้ประกอบอาชีพอย่างเต็มที่ แต่กลับเกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอ จนเกษตรกรออกรวมตัวที่คลองชลประทาน เพื่อเรียกร้องทางเขื่อนให้ระบายน้ำเพิ่ม
ที่บริเวณคลองส่งน้ำบ้านโคกก่อง ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ใกล้อาคารเปิดปิดน้ำ 2 แห่ง คือหลัก กม.ที่ 12 บ้านโคกก่อง และแห่งที่ 2 หลัก กม.16 บ้านตูม ต.บัวบาน ตัวแทนชาวบ้านผู้ใช้น้ำจำนวน 10 คน ได้มารวมตัวกันติดตามระดับน้ำที่คลองชลประทาน โดยระบุว่าโครงการส่งน้ำฯ ระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม ถึงวันนี้ผ่านมากว่า 10 วัน ยังไม่ได้ใช้น้ำเลย ทั้งที่ทุกครั้งใช้เวลาเพียง 7 วัน ก็ได้รับน้ำที่ไหลผ่านประตูปิด-เปิดน้ำ ไปตามคลองไส้ไก่เข้าบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และพื้นที่ทำนาปรัง ที่ขณะนี้หว่านเต็มท้องนาแล้ว แต่กลับไม่ได้ใช้น้ำ ทำให้ต้นข้าวที่กำลังงอกเหี่ยวเฉาและกำลังจะแห้งตาย ขณะที่ผู้เลี้ยงกุ้งก็รอน้ำเพื่อให้ไหลเติมเข้าไปในบ่อ และปล่อยเลี้ยงพันธุ์กุ้งรุ่นใหม่ บางรายต้องนำเครื่องไปสูบน้ำ ทำให้สิ้นเปลือง เนื่องจากน้ำมันราคาสูง ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งบริเวณนี้พื้นที่รอรับน้ำไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ทีเดียว
์
นายพรหมมา ฉายประดับ อายุ 62 ปี ชาวนาบ้านโคกก่อง ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า มีที่นา 16 ไร่ ทำนาปรังทั้งหมด โดยการหว่านแห้งเพื่อรอรับน้ำจากคลองชลประทานลำปาว โดยกะระยะเวลาตามที่เคยทำทุกปี คือรอประกาศของเขื่อนลำปาวว่าจะระบายน้ำลงมาวันไหน ก็กำหนดวันลงมือทำนา คือพอหว่านข้าวเสร็จ 4-5 วัน เมล็ดข้าวก็จะเริ่มงอก หรือรอเพียง 1 สัปดาห์ ก็จะได้รับน้ำจากคลองแล้ว แต่ผ่านมา 12-13 วันยังไม่ได้รับน้ำเลย จึงชักชวนเพื่อนชาวนาและผู้เลี้ยงกุ้งที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำ ช่วง กม.ที่ 12 และ 16 มาดูระดับน้ำ ซึ่งทีแรกเข้าใจผิดโดยคิดว่าคนที่อยู่ต้นน้ำ ซึ่งมีบ่อเลี้ยงกุ้งอยู่ติดกับคลองสายใหญ่กักเก็บน้ำไว้ใช้ จึงมาพูดคุยขอใช้น้ำด้วย ซึ่งเกิดการถกเถียงกันยกใหญ่ เกือบจะวางมวยกันเลยทีเดียว
ด้าน นายศุภาวุฒิ สุวรรณดี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กล่าวว่า มีบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม 15 ไร่ อยู่ติดคลองชลประทานสายหลัก แต่ปริมาณน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนลำปาวยังมีปริมาณน้อย ไม่ถึงประตูระบายน้ำที่จะไหลไปตามคลองไส้ไก่ ตนเองและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง รวมทั้งชาวนาหลายคน จึงนำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำ ทำให้สิ้นเปลืองค่าน้ำมันที่มีราคาแพง ทั้งที่ไม่น่าจะเป็น หากทางเขื่อนปล่อยน้ำมาเต็มที่ ตามกำหนดเวลา ตนเองและชาวนาคงจะไม่เดือดร้อน บางครั้งจะเกิดเหตุชกต่อยกันเพราะคิดว่าต้นน้ำกักเก็บน้ำไว้ ล่าสุดจึงได้โทรศัพท์แจ้งปัญหาน้ำไม่พอใช้ไปยังผู้บริหารเขื่อนลำปาว เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาแล้ว
ขณะที่ นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,167 ล้าน ลบ.ม. จากระดับกักเก็บ 1,980 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ทั้งนี้โครงการฯ เริ่มระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม เพื่อให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ทำนาปรัง และประชาชนผู้ใช้น้ำ ได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยส่งเฉลี่ยวันละประมาณ 3.5 ล้าน ลบ.ม. และจะเพิ่มปริมาณขึ้นตามลำดับ เพื่อรักษาสมดุลของระบบคู คลอง
สาเหตุที่การจราจรของน้ำในคลองชลประทาน ที่ผู้ใช้น้ำแจ้งว่าเพิ่มระดับช้านั้น เพราะที่ผ่านมามีการก่อสร้างและปรับปรุงคลองชลประทานสายหลักหลายช่วง บางช่วงมีระยะทางยาวหลายร้อยเมตร ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่ส่งผลกระทบต่อคูคลองที่สร้างเสร็จใหม่ จึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณน้ำที่ระบายลงมา สำหรับปัญหาที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านนั้น ก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงติดตามสถานการณ์น้ำ และจะเร่งดำเนินการตามคำร้องขอ คาดว่าจะได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึงในวันนี้ (18)