ข่าว

"สืบพงษ์" อธิการบดี กลับคืนรั้วรามฯ ภายหลังศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว

"สืบพงษ์" อธิการบดี กลับคืนรั้วรามฯ ภายหลังศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว

18 ม.ค. 2565

กำลังใจล้นหลาม "สืบพงษ์ ปราบใหญ่" กลับเข้ารับตำแหน่งอธิการบดี หลังศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว ด้าน นายกองค์การนักศึกษาเรียกร้องกรรมการสภามหาวิทยาลัยรับผิดชอบ "ลาออก"ทุกคน

 

ภายหลังศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาให้ทุเลาคำสั่งกรณีสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีมติถอดถอนนายสืบพงษ์  ปราบใหญ่ ออกจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นการชั่วคราว ปรากฎว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ม.ค.65  นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ได้เดินทางเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกครั้ง ท่ามกลางเจ้าอาจารย์ เจ้าหน้าที่  และนักศึกษาประทาณ 200 คน  ร่วมให้การต้อนรับ มอบดอกไม้ให้กำลังใจ 

นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางการให้กำลังใจจาก บุคลากรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ทั้งนี้ นายสืบพงษ์ กล่าวขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และยืนยันว่าจะทำหน้าที่เพื่อรามคำแหง และพวกเราทุกคน


"ช่วงพักการทำหน้าที่ ก็มีเวลาไปทบทวน จึงยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมตามกฎหมาย และวันนี้ศาลปกครองได้คืนความเป็นธรรมมาแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณศาลปกครองด้วย" นายสืบพงษ์ กล่าว 
     

ส่วนเรื่องจะต่อสู้อย่างไรต่อไป นายสืบพงษ์ กล่าวว่า จะต่อสู้ตามขบวนการของกฎหมาย แต่รายละเอียดบางอย่างยังพูดไม่ได้ เพราะอยู่ในชั้นศาลแล้ว

 

\"สืบพงษ์\" อธิการบดี กลับคืนรั้วรามฯ ภายหลังศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว

ด้าน "นิว" สมศักดิ์ ปานเมือง นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จากพรรคตะวันใหม่ กล่าวให้กำลังใจอธิการบดี และขอบคุณที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าหารือในการทำกิจกรรมนักศึกษา
     

“เรื่องราวที่เกิดขึ้นในรั้วรามคำแหงในนามขององค์การนักศึกษาอยากเรียกร้องไปยังกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกท่านให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกทุกคน”
       

ระหว่างนั้นได้มีอดีตข้าราชการในมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งขึ้นไปพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรั้วรามคำแหงอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนจากการอยู่ในรามคำแหงมาร่วม 30 ปี ก็หวังว่าอธิการบดีคนใหม่จะช่วยฟื้นฟูให้รามคำแหงกลับมาเหมือนเดิม

 

กล่าวสำหรับศึกการปลดอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เริ่มดำเนินมาหลังจากผู้มากบารมีในรามคำแหงเริ่มไม่พอใจที่อธิการบดีไม่จัดการงานบางอย่างให้ตามที่ขอ เกมปลดอธิการบดีผ่านสภามหาวิทยาลัยจะเริ่มขึ้น และเป็นไปตามแผน แค่ 3 เดือนหลังอธิการบดีที่มาจากการเลือกตั้งเข้ารับตำแหน่ง สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงก็มีมติให้พักการปฏิบัติหน้าที่ และตั้งรักษาการแทนเข้ามาทำหน้าที่ แต่ ดร.สืบพงษ์ก็ดิ้นสู้ตามกฎหมายด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง มีสภามหาวิทยาลัย และอุปนายกสภาฯ เป็นจำเลยสองคน

 

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งวันนี้ (17 ม.ค.64) ในคดี ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ผู้ฟ้องคดี กับสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ศ.สมบูรณ์ สุขสำราญ ในฐานะอุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ถูกฟ้องคดี รวม 2 คน ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมติสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 24 ธ.ค.64 ถอดถอน ดร.สืบพงษ์ พ้นจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
 

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐาน และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว มีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 24 ธ.ค.64 รวมทั้งคำสั่งสภามหาวิทยาลัยที่ออกตามมา ที่ให้ถอดถอน ดร.สืบพงษ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.64 เป็นต้นไป ศาลให้ทุเลาการบังคับไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

สาระสำคัญที่เป็นเหตุผลของการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระบุตอนหนึ่งว่า การถอดถอนดร.สืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี เป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการสืบสวนสอบสวนถึงการกระทำความผิด และแจ้งให้ดร.สืบพงษ์​ ได้มีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอเพื่อโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพื่อแก้ข้อกล่าวหา 
 

นอกจากนั้น ดร.สืบพงษ์ ​เพิ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 64 และถูกสภามหาวิทยาลัยฯ ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 3 เดือน ถือว่าผู้ฟ้องคดีเพิ่งได้เริ่มปฏิบัติงาน และยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำอันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนหรือไม่ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า มติของสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งคำสั่งถอดถอนที่ออกตามมาน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย 

 

หากต่อไปศาลเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง และคำสั่งสภามหาวิทยาลัย ผู้ฟ้องคดีอาจไม่สามารถดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้อีก อันเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง ยากแก่การเยียวยา อีกทั้งการทุเลาการบังคับตามมติสภามหาวิทยาลัยฯ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน เนื่องจากดร.สืบพงษ์ สามารถดำเนินการบริหารงานของมหาวิทยาลัยตามอำนาจหน้าท่ีได้ต่อไป และสภามหาวิทยาลัยก็มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดำเนินการบริหารงานของดร.สืบพงษ์ ต่อไปได้ 
 
ส่วนการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนอธิการบดี ก็ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารมหาวิทยาลัยเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี