ข่าว

"น้องอุ้ม" พยาบาลอุ้มผาง เทียนเล่มน้อยที่ส่องแสงเพื่อผู้คนชายแดน

"น้องอุ้ม" พยาบาลอุ้มผาง เทียนเล่มน้อยที่ส่องแสงเพื่อผู้คนชายแดน

19 ม.ค. 2565

เปิดโพสต์ซึ้งถึง "น้องอุ้ม" พยาบาลอุ้มผาง นางฟ้าชุดขาว น่ารักสดใส แต่หัวใจแข็งแกร่ง กับคำพูดที่เคยพูดกับพ่อ ไม่รู้เมื่อไหร่จะถึงคิวน้อง ด้วยภาระหน้าที่ดูแลคนไข้บนรถพยาบาล 1,219 โค้ง 3.5 ชั่วโมงที่แสนทรมาน

เพจ เรื่องเล่าหมอชายแดน โพสต์ข้อความถึง "น้องอุ้ม" นางสาวปุณยวีร์ ศรีดวงแปง พยาบาลสาวอุ้มผางที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุรถตู้พยาบาลฉุกเฉินของโรงพยาบาลอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ชนกับรถบรรทุกพ่วงบนถนนสายแม่สอด-อุ้มผาง เขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

โดยบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของ "น้องอุ้ม" และครอบครัวว่า
น้องอุ้มเข้าศึกษาพยาบาลในโครงการผลิตพยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่า คุณพ่อน้องอุ้มทำงานเป็นตำรวจตระเวนชายแดนที่อุ้มผาง เคยไปรับราชการที่ชายแดนใต้หลายปี โครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้บุตรธิดาของข้าราชการตำรวจ ทหารชายแดน ได้เข้าเรียนเพื่อจบออกมาทำงานที่พื้นที่ชายแดนห่างไกล ที่ๆใครก็ไม่อยากมาทำงาน ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ และจะได้มาอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว  ชาวบ้านก็จะได้มีที่พึ่ง ข้าราชการก็ไม่ได้หนีจากพวกเขาไปไหน ทำงานแบบสำนึกรักบ้านเกิด 

\"น้องอุ้ม\" พยาบาลอุ้มผาง เทียนเล่มน้อยที่ส่องแสงเพื่อผู้คนชายแดน

"น้องอุ้ม" เป็นคนสวยน่ารัก น่าทะนุถนอมแต่พ่อบอกว่าตัวจริงแข็งแกร่งมาก ชอบเล่นกีฬา โดยเฉพาะบาสเก็ตบอลและออกกำลังกายเป็นประจำ พี่ๆเพื่อนๆที่ทำงานบอกว่าอยู่โรงพยาบาลอุ้มผางเข้าปีที่ 4 เธอขยันทำงาน อารมณ์ดี สดใส มีน้ำใจกับทุกคนเสมอ ปกติจะประจำอยู่วอร์ดหลังคลอด ชอบเล่นกับลูกคนไข้ มีเวรรีเฟอร์คนไข้เฉลี่ย 2-3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ บางทียอมขึ้นเวรแทนพี่ๆที่ไปไม่ไหว อุ้มบอกพ่อว่าเดินทางบ่อยขนาดนี้เมื่อไหร่ไม่รู้จะถึงคิวน้อง ..คิวในความหมายของอุ้มก็คือ การเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด

\"น้องอุ้ม\" พยาบาลอุ้มผาง เทียนเล่มน้อยที่ส่องแสงเพื่อผู้คนชายแดน
การรีเฟอร์คนไข้ออกจากอุ้มผางมาโรงพยาบาลแม่สอดหรือโรงพยาบาลที่ไกลกว่านั้นเป็นเรื่องยากมาก ไหนจะต้องดูแลคนไข้ที่อาการหนักกว่าปกติ (ที่อุ้มผางเป็นพื้นที่ทุรกันดาร คนไข้มักเข้าถึงบริการช้า จนอาการทรุดหนัก บางพื้นที่ใช้เวลาเดินมาเป็นวันๆ ) ดูแลที่โรงพยาบาลว่ายากแล้ว นี่ต้องให้น้ำเกลือ ฉีดยาในสภาพที่รถกำลังวิ่งโค้งไปโค้งมาต้องใช้ทักษะมากทีเดียว แถมต้องปลดเข็มขัดนิรภัยบ่อยๆเพราะดูแลคนไข้ไม่ถนัด ไหนจะถนนหนทางที่คดเคี้ยว ระยะทาง 164 กิโลเมตร 1,219 โค้ง เวลา 3.5 ชั่วโมงที่แสนทรมาน สมัยก่อนที่เบียร์ไปอยู่อุ้มผางก็ออกมาส่งคนไข้บ่อยๆ มาถึงแม่สอดดูจะแย่กว่าคนไข้เสียอีก ต้องเอาถุงอ้วกที่เต็มไปด้วยน้ำดีห้อยหูไว้เลย ..นับถือเจ้าหน้าที่ รพ.อุ้มผางจริงๆที่ไม่เคยย่อท้อ ขอเพียงนำส่งคนไข้มาที่โรงพยาบาลแม่สอดได้อย่างปลอดภัย ดึกดื่นแค่ไหนถ้าคนไข้รอไม่ได้ พวกเขาก็ไม่รอ 

โรงพยาบาลอุ้มผางได้พัฒนาหลายด้านเพื่อให้รองรับผู้ป่วยหนักให้ได้มากที่สุดเพื่อลดการรีเฟอร์ เพื่อความปลอดภัยของบุคลากร เช่นการเพิ่มหมอเฉพาะทาง การตั้ง ICU ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก มีห้องผ่าตัดแบบมาตรฐาน มีโรงพยาบาลชุมชนไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ยังเปิดผ่าตัดอยู่มีที่นี่ค่ะ 4 อำเภอชายแดนตาก แต่ด้วยความถี่ในการรีเฟอร์ผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกมากกว่า 750 ครั้งต่อปีความเสี่ยงก็ไม่อาจหมดไป จนมาเกิดอุบัติเหตุรุนแรงครั้งนี้

"น้องอุ้ม" บาดเจ็บทางสมองเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลแม่สอดโดยคุณหมอกัลยา ศัลยแพทย์ผ่าตัดสมองที่ตั้งใจทำงานหนักมากที่ชายแดนมาตลอด การผ่าตัดสำเร็จด้วยดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน เมื่อน้องพอที่จะเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย เราได้ส่งตัวน้องต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถีที่มีความพร้อมมากกว่าโดยลำเลียงทางอากาศยาน sky doctor โดยความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุข รับน้องเป็นคนไข้ในความดูแลและสัญญาว่าจะดูแลคนในหน่วยงานของเราอย่างดีที่สุด เพราะเขาบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผู้ป่วยด้วยความทุ่มเทและเสี่ยงภัย

\"น้องอุ้ม\" พยาบาลอุ้มผาง เทียนเล่มน้อยที่ส่องแสงเพื่อผู้คนชายแดน


เบียร์มีส่วนร่วมในทีมประสานงานช่วยเหลือ "น้องอุ้ม" ขอเป็นตัวแทนขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือให้น้องปลอดภัย ทั้งส่วนการรักษา การลำเลียงส่งต่อ การบริจาคเลือด บริจาคทรัพย์ และการจัดการเรื่องต่างๆ

ขอกำลังใจคนไทยทุกคนส่งให้กับพยาบาลตัวน้อยของชายแดนตากตะวันตกคนนี้ให้กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรง มีรอยยิ้มที่สดใสให้กับคนไข้ของเธอและพวกเราทุกคนอีกครั้ง ..

กลับมาเป็นเทียนเล่มน้อยที่ส่องแสงเพื่อผู้คนที่ชายแดนแห่งนี้เร็วๆนะน้องอุ้ม …