เปิดประสิทธิภาพ ยาเม็ดรักษาโควิด "Paxlovid" จัดการ "โอไมครอน" ได้แค่ไหน
ไฟเซอร์ เผยผลการทดลอง ยาเม็ดรักษาโควิด "Paxlovid" มีประสิทธิภาพจัดการเชื้อ "โอไมครอน" และสายพันธุ์ดั้งเดิมได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ.ไฟเซอร์ เปิดเผยเผยผลการศึกษาในห้องทดลอง 3 ชิ้น ระบุว่า "ยาเม็ดรักษาโควิด" อย่าง "Paxlovid" (แพ็กซ์โลวิด) มีประสิทธิภาพในการจัดการเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ สายพันธุ์ "โอไมครอน" หรือ "โอมิครอน" โดยหนึ่งในผลการศึกษาพบว่า Nirmatrelvir ที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ "Paxlovid" มีประสิทธิภาพยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในเชื้อไวรัสโคโรนา ที่จะใช้ในการจำลองตัวและเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสได้ ทั้งในสายพันธุ์กลายพันธุ์อย่าง "โอไมครอน" และสายพันธุ์ดั้งเดิม
ขณะที่ผลการศึกษาที่เหลืออีก 2 ชิ้น ศึกษาการทำงานของ "Paxlovid" และปริมาณที่จำเป็นของ "Paxlovid" ที่จะใช้จัดการเชื้อ "โอไมครอน" และเชื้อ
กลายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของ Pfizer เผยผลการศึกษาเบื้องต้นว่า ยาเม็ด "Paxlovid" มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงที่จะเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ภายหลังติดโควิดสูงถึง 89%
เบื้องต้นทางการสหรัฐอเมริกา ได้สั่งซื้อยาเม็ดชนิดนี้แล้ว 20 ล้านคอร์ส คาดว่า จะส่งมอบยาทั้งหมดภายในปีนี้ โดยคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ ได้อนุมัติการใช้ยาเม็ด "Paxlovid" เป็นกรณีฉุกเฉินได้ ซึ่งในขณะนี้ยาเม็ด "Paxlovid" ที่เริ่มส่งมอบแล้วยังมีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯ ที่ติดเชื้อเพิ่มกว่า 20,800 รายต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ด้าน ดร.แอนโทนี เฟาชี ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของทำเนียบขาว ระบุว่า ยาเม็ดรักษาโควิดอย่าง "Paxlovid" จาก Pfizer รวมถึง Molnupiravir จาก Merck จะมีส่วนสำคัญในการช่วยจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดภายในสหรัฐฯ ในขณะที่วิธีการอื่น ๆ ที่ใช้จัดการกับเชื้อไวรัสต่างเป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชี้ การฉีดวัคซีนโควิดยังคงเป็นวิธีการที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ เอฟดีเอ ได้อนุมัติการใช้ยาเม็ด "แพกซ์โลวิด" ของบริษัท ไฟเซอร์ เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉิน นับเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดเม็ดตัวแรกที่ผู้ป่วยสามารถทานเองที่บ้าน โดยกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป จะได้รับยาแพกซ์โลวิดไปทานที่บ้าน ซึ่งแพทย์จะต้องเป็นผู้สั่งยาดังกล่าวให้
ด้านเอฟดีเอ ระบุว่า ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาแพกซ์โลวิด ทันทีที่ถูกพบว่าติดโรคโควิด-19 และต้องได้รับยาในช่วงที่มีอาการ 5 วันแรก ซึ่งยาแพกซ์โลวิด นั้น ประกอบไปด้วยยาต้านไวรัสตัวใหม่ชื่อ เนอร์มาเทรลเวียร์ กับยาตัวเก่าชื่อ ริโทนาเวียร์ และผู้ป่วยต้องทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน โดยบริษัท ไฟเซอร์ พบว่า ยาแพกซ์โลวิด สามารถลดความเสี่ยงการเข้าโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตได้ราว 89 เปอร์เซ็นต์ หากผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ได้รับยาดังกล่าวเมื่อเริ่มมีอาการป่วยโควิดในช่วงแรก
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวทาง การจัดซื้อ "Paxlovid" ยารักษาโควิด เพื่อนำเข้ามารักษาผู้ป่วย ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าประเทศไทยกำลังจะนำ "Paxlovid" ซึ่งผลิตโดยบริษัท ไฟเซอร์ เข้ามา เนื่องจากเป็นยาที่มีผลการศึกษาวิจัยว่า มีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้ดีมาก ซึ่งวันนี้ คาดว่า จะมีการนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในการใช้งบประมาณจัดซื้อ "Paxlovid" จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา โดยหากผ่านความเห็นชอบแล้ว คาดว่าวันที่ 24 มีนาคม จะมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อต่อไป โดยบริษัทผู้ผลิตระบุว่า หลังจากลงนามแล้วจะพร้อมส่งสินค้าภายใน 1 สัปดาห์ จึงคาดว่าประเทศไทยจะมียาแพกซ์โลวิดใช้รักษาผู้ป่วย ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเทศกาลสงกรานต์