GISDA เผย จุดความร้อนเพิ่มวันเดียวเกือบ 200 จุด หนักสุดที่กาฬสินธุ์
เทศกาลไฟป่าเริ่มแล้ว จุดความร้อนไต่ระดับวันเดียวเพิ่มเกือบ 200 จุด รวมเป็นกว่า 400 จุดทั่วไทย ขณะที่เพื่อนบ้านกัมพูชา เมียร์มา ก็เพิ่มสูง จนอาจกระทบต่อ PM 2.5
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบว่า วานนี้ (18 มกราคม 2565) พบจุดความร้อน (Hot Spot) ทั้งประเทศ จำนวน 402 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าถึง 199 จุด โดยพบมากสุดในพื้นที่เกษตร 161 จุด , พื้นที่เขตสปก. 67 จุด , พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 66 จุด , พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 51 จุด , พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 46 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 11 จุด
สำหรับจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุด คือ กาฬสินธุ์ 33 จุด , ชัยภูมิ 33 จุด , ลพบุรี 31 จุด ตามลำดับ โดยวันนี้ (19) คุณภาพอากาศโดยรวมยังอยู่ในระดับดี มีฝุ่นบ้างเล็กน้อยในบางพื้นที่ ทั้งนี้จุดความร้อนที่กลับมามีปริมาณเพิ่มขึ้น ยังคงกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และ ภาคกลาง ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร
เมื่อเทียบกับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน อันดับหนึ่งคือประเทศกัมพูชา ซึ่งสูงสุดมาต่อเนื่อง 8 วันติดต่อกัน จำนวน 1,232 จุด รองลงมาคือประเทศไทย จำนวน 402 จุด และอันดับที่ 3 คือประเทศเมียนมาร์ 229 จุด
ทั้งนี้จุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณแนวชายแดน ภาคตะวันออก รวมถึงภาคกลาง เนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามาในพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพในระยะนี้ด้วย
นอกจากนี้ GISTDA ยังเผยแพร่ภาพจากดาวเทียมระบบ MODIS ที่แสดงให้เห็นพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า โดยช่วงสัปดาห์นี้จนถึงวันที่ 23 มกราคม มี 5 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่า ได้แก่ นครสวรรค์ ตาก เพชรบูรณ์ ลำปาง และ เชียงใหม่ ส่วนอีก 12 จังหวัดที่เหลือนั้น มีตัวเลขคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ , พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ ส่วนสาเหตุอาจเกิดจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า หรือการเผาก่อนหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น
GISTDA ระบุด้วยว่า ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาตลอด โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น