ร้อง ก.ยุติธรรม โดนหลอกสร้าง"บ้านน็อคดาวน์" สูญ 10 ล้าน
ผู้เสียหายกว่า 20 ราย รวมตัวเข้าร้องทุกข์กระทรวงยุติธรรม หลังถูกหลอกสร้าง"บ้านน็อกดาวน์" สูญเงินกว่า 10 ล้านบาท ชี้พฤติกรรม"ฉ้อโกงประชาชน"ชัดเจน
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 20 มกราคม 2565 ที่กระทรวงยุติธรรม ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้เสียหายกรณีถูกนายอรัญ เจียไพบูลย์ เจ้าของกิจการรับสร้าง"บ้านน็อคดาวน์"ที่ลงประกาศในเฟซบุ๊ก ชื่อ "ซุ้มไพบูลย์" หรือ "บ้านไพบูลย์" โดยมีพฤติการณ์หลอกลวงให้ผู้เสียหายทำสัญญารับสร้างบ้านดังกล่าว แล้วรับเงินมัดจำจากผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายทวงถามเนื้องานตามงวด กลับโดนนายอรัญหลอกลวงนำภาพถ่ายบ้านของคนอื่นมาหลอก ซ้ำเมื่อตรวจสอบคุณภาพงานพบว่า ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป เมื่อผู้เสียหายแจ้งให้มาแก้ไขกลับโดนบ่ายเบี่ยง กระทั่งไม่สามารถติดต่อนายอรัญได้เลย ผู้เสียหายทั้งหมดจึงมั่นใจว่านายอรัญ มีเจตนา"ฉ้อโกง"ประชาชนแต่แรก และยังพบด้วยว่าขณะนี้มีผู้เสียหายไม่น้อยกว่า 35 คน รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10,000,000 บาท
โดยพฤติการณ์ของนายอรัญ จึงไม่ใช่การ"ผิดสัญญาทางแพ่ง" แต่มีความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ เมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความกลับถูกปฎิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องทางแพ่ง หรือบางส่วนก็รับแจ้งไว้เป็นหลักฐานแต่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ จึงมาร้องขอความเป็นธรรมต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าวว่า ตนได้เรียนให้รัฐมนตรีว่าการ"กระทรวงยุติธรรม"รับทราบแล้ว ซึ่งคดีดังกล่าวเกิดเมื่อต้นปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปลายปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นการ"ฉ้อโกงประชาชน"ผ่านสื่อโซเชียล โดยให้ทำสัญญาว่าจ้างสร้างบ้านให้ ซึ่งคนที่"ฉ้อโกง"ถือว่ามีความรู้ด้านกฎหมายพอสมควร เพราะรู้ดีว่าการหลอกลวงจัดจ้างสร้างบ้านเป็นแค่"คดีทางแพ่ง" พฤติกรรมคือหลอกว่ามีการดำเนินการก่อสร้างบ้านให้อยู่อย่างต่อเนื่องแต่ที่จริงแล้วไม่ได้สร้าง"บ้านน็อคดาวน์"จริง แต่ผู้ที่หลอกลวงลืมคิดไปว่าพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของ"กฎหมายแพ่ง" แต่เป็นการปกปิดข้อเท็จจริงว่าไม่มีโรงงานอยู่จริง ไม่มีการทำงานให้ผู้เสียหาย มีการทำสัญญาว่าจ้างต่าง ๆ โดยการนำหิน ทรายไปวางไว้เฉย ๆ เพื่อตบตา
อย่างไรก็ตาม ตามหลักการผู้เสียหายต้องรีบไปแจ้งความเอาผิดเพราะคดีมีอายุความ ตำรวจไม่ควรปฏิเสธรับแจ้งความและไม่ควรเพิกเฉยในคดีนี้ เพราะพฤติการณ์ชี้ชัดว่า"หลอกหลวงประชาชน" ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมเราจะให้"กรมสอบสวนคดีพิเศษ" หรือ ดีเอสไอ ตั้งเรื่องสืบสวนข้อเท็จจริงมีใครเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอีกบ้าง และจะต้องสืบเส้นทางการเงินของผู้หลอกลวงอีกด้วย ตนขอฝากไปยังผู้ที่หลอกลวง"สร้างบ้านน็อคดาวน์"ว่าให้รีบนำเงินของผู้เสียหายมาคืนโดยเร็ว หรือสร้างบ้านตามสัญญาให้แล้วเสร็จถ้ามีอยู่จริง นอกจากนี้ หากมีผู้เสียหายท่านใดที่โดนหลอกลวงเช่นเดียวกันให้เข้ามาร้องเรียนได้ที่กระทรวงยุติธรรม หรือ ที่ยุติธรรมจังหวัดได้ทันที