ข่าว

เร่งผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว" ให้เพียงพอในภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19

เร่งผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว" ให้เพียงพอในภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19

21 ม.ค. 2565

เร่งผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว"ให้เพียงพอในภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดร เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เกิดปัญหาทางการเกษตรหลายด้าน ทั้งด้านการผลิต การขนส่งและการตลาด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง รายได้ต่อครัวเรือนลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้นและเกิดปัญหาการว่างงานจากการเลิกจ้างงาน เกษตรกรกลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศ ทำให้ความต้องการ "เมล็ดพันธุ์ข้าว" คุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน กรมการข้าวจึงมีแนวทางยกระดับรายได้และฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ฯ โดยเพิ่มกำลังการผลิต"เมล็ดพันธุ์ข้าว" เพื่อรองรับต่อความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ดี ให้เกษตรกรภาคส่วนต่าง แต่ยังมีข้อจำกัดคือ เครื่องจักรเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน เทคโนโลยีล้าสมัย ต้องใช้แรงงานและกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงไปด้วย

เร่งผลิต \"เมล็ดพันธุ์ข้าว\" ให้เพียงพอในภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19

กรมการข้าวจึงเสนอโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพ "เมล็ดพันธุ์" ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อรองรับเป้าหมายการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ได้อนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 29/2563 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ เห็นชอบให้กรมการข้าวดำเนินการโครงการฯ ภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 และให้กรมการข้าวดำเนินงานโครงการให้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด บรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป

เร่งผลิต \"เมล็ดพันธุ์ข้าว\" ให้เพียงพอในภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19

​ว่าที่ ร.ท.อลงกต ถนอมสุข ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดรธานี กล่าวว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดรธานีเป็นหน่วยงานหลักในการผลิต"เมล็ดพันธุ์ข้าว" เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร โดยการส่งเสริมและพัฒนาการผลิต"เมล็ดพันธุ์ข้าว" เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถต่อยอด สร้างคน สร้างงาน และพัฒนาข้าวไทยให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เร่งผลิต \"เมล็ดพันธุ์ข้าว\" ให้เพียงพอในภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19

โดยผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวฤดูฝนปี 2564 จำนวน 3,900 ตัน แยกเป็นข้าว กข12 จำนวน 100 ตัน ข้าว กข6 จำนวน 2,500 ตัน ข้าว กข15 จำนวน 500 ตันและข้าวขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 800 ตัน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง สำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมีขั้นตอน ดังนี้

 

1. การวางแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์

2. การจัดหาเมล็ดพันธุ์หลัก

3. การจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว

3.1 การคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกร

3.2 การเตรียมเมล็ดพันธุ์

3.3 การเตรียมพื้นที่ เพื่อกำจัดข้าวเรื้อ ควรไถดินให้ร่วนลึกทั่วทั้งแปลง ลึกจากหน้าดิน 15 เซนติเมตร เป็นการทำลายชั้นดินดานบริเวณหน้าดิน รากสามารถเจริญหาอาหารได้สะดวก ทำให้ข้าวเจริญเติบโตได้เต็มที่ ใส่น้ำในแปลงนาทิ้งไว้ 10–15 วัน เพื่อหมักดินให้นานพอที่อินทรียวัตถุจะสลายตัวได้หมด และคราดปรับระดับแปลงให้เรียบที่สุด เพื่อให้ควบคุมระดับน้ำและวัชพืชได้ดี

 

3.4 การปลูก มีหลายวิธี ได้แก่ การปลูกแบบนาหว่านน้ำตม นาหว่านข้าวแห้ง นาดำโดยแรงงานคน นาดำโดยใช้เครื่องปักดำ นาโยนกล้า และนาหยอด การเลือกวิธีการปลูกใดก็ตามขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของเกษตรกรผู้ปลูก ส่วนใหญ่นิยมปลูกโดยใช้เครื่องปักดำ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการปลูก

 

3.5 การปฏิบัติดูแลรักษาแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การควบคุมระดับน้ำในการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตสูง ไม่ควรเกิน 5 เซนติเมตร สามารถป้องกันกำจัดวัชพืชในนาข้าวได้หลายวิธี เลือกชนิดและอัตราปุ๋ยตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ป้องกันกำจัดโรคแมลงอย่างถูกวิธีและเหมาะสม

 

3.6 การกำจัดพันธุ์ปน ควรมีการปฏิบัติทุกระยะของการเจริญเติบโตของข้าว ระยะกล้า ระยะแตกกอ ระยะออกดอก ระยะข้าวโน้มรวง และระยะเมล็ดสุกแก่

 

ในทุก ๆ ขั้นตอนของการผลิต"เมล็ดพันธุ์"ของเกษตรกรที่อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดรธานี จะมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ ฯ ติดตามลงพื้นที่ให้คำแนะนำ มอบองค์ความรู้เรื่องข้าว การผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กรมการข้าวกำหนด เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และแน่นอนว่าการผลิต"เมล็ดพันธุ์ข้าว"ของเกษตรกรจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพมาตรฐานและการมีความรู้ความเข้าใจในการผลิตข้าวที่เหมาะสมซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางของเกษตรกรชาวนาไทย ที่จะสามารถต่อรองราคากับท้องตลาดได้ รายได้เพิ่มขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นตามไปด้วย