ข่าว

พระตำนาน "หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ตอนที่ 1 ทารกผู้มีบุญอัศจรรย์

พระตำนาน "หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ตอนที่ 1 ทารกผู้มีบุญอัศจรรย์

22 ม.ค. 2565

วันเสาร์นี้คมชัดลึกออนไลน์จะเล่าเรื่องประวัติธรรมะอันลึกซึ้งของ "หลวงปู่ทวดเหยียบทะเลน้ำจืด" ให้ฟัง จะแบ่งเป็นทั้งหมดสามตอน เผยแพร่เสาร์ละตอนตามช่วงอายุของหลวงปู่

ขอนมัสการกล่าวถึง "มหาเกจิอาจารย์หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" องค์พระสงฆ์ผู้มีเมตตาล้นเหลือ 

 

หลวงปู่ทวด ( สมเด็จเจ้าพะโคะ, หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด, สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์หลวงปู่ทวดวัดช้างให้ ,ท่านองค์ดำ, ท่านลังกา) มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก สำคัญ 1 ใน 2 มหาเกจิอาจารย์ของเมืองไทย คู่กับ สมเด็จหลวงปู่โต แล้วยังเป็นพระมหาเถระผู้ทรงอภิญญา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยจากตำนานท้องถิ่น อย่างไรก็ดีไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ยืนยันความมีอยู่จริง ประวัติที่พิมพ์เผยแพร่กล่าวว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่ศรัทธาในหลวงปู่ทวดเชื่อกันว่าพระเครื่องที่สร้างเนื่องด้วยท่านจะมีอานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองผู้มีพระเครื่องหลวงปู่ทวดในครอบครอง

"ทารกกับเหตุการณ์ปาฏิหาริย์"

"หลวงปู่ทวด" มีนามเดิมว่า ปู เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ชาวบ้านวัดเลียบ ตำบลดีหลวง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 

 

เมื่อท่านเกิดมาแล้วก็มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นกับท่านเรื่อยมา  ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาของท่านต้องออกไปเกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ซึ่งท้องนาแห่งนั้นห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ที่นาแห่งนั้นมีดงตาลและมะเม่าเป็นจำนวนมากครั้งนั้นจึงเรียกว่าทุ่งเม่า  ในสมัยนั้นจึงมีสัตว์ป่าชุกชุมพอสมควร พ่อและแม่ของท่านจึงผูกเปลของท่านซึ่งเป็นเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้นและก็ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น

 

พอได้ระยะเวลาที่นางจันทร์ต้องให้นมลูก นางจันทร์จึงเดินมาที่ที่ปลูกเปลของลูกน้อย และก็เห็นงูจงอางตัวใหญ่พันที่รอบเปล นางจันทร์ตกใจมากจึงเรียกนายหูซึ่งอยู่ไม่ไกลมาดูและช่วยไล่งูจงอาง แต่งูจงอางนั้นก็ไม่ไปไหน นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่า นายหูและนางจันทร์จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใด ๆ 

เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ ปรากฏว่าเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปูนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว (ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ) เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องเข้าก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอาจากนายหูและนางจันทร์ บิดามารดาของท่านจึงจำต้องยอมให้ลูกแก้วนั้นแก่เศรษฐีปานซึ่งเป็นนายเงิน แต่ลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิประจำตัวท่าน เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วก็เกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกันบ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปู และยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสและต่อมาก็มีฐานะดีขึ้น  ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิม

 

 

"สามีราโม"

พ.ศ. 2132 เมื่อท่านมีอายุได้ 7 ขวบ บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือ (วัดดีหลวงในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านท่าน ขณะนั้นมีท่านสมภารจวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านเป็นลูกแก้วประจำตัวท่านต่อไป


 

ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ ต่อมาท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจ ปัจบันก็คือเรียนนักธรรม โดยนำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาครองเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยังหรือวัดสีหยังในปัจจุบัน 


 

ครั้นอายุครบอุปสมบทจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ได้ทำการอุปสมบทมีฉายาว่า "ราโม ธมฺมิโก" แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า  "เจ้าสามีราม" หรือ "เจ้าสามีราโม"

 

เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และอีกหลายวัด เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอแล้วจึงขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร เกิดคลื่นทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้จนต้องทอดสมออถึงเจ็ดวัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมด บรรดาลูกเรือตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดเหตุอาเพศครั้งนี้เพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะและได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้ห้อยเท้าแช่ลงไปในทะเลก็บังเกิดอัศจรรย์น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายแวววาวโชติช่วง


 

เจ้าสามีรามจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มจึงสึกว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้นมาเจ้าสามีรามก็เป็นอาจารย์สืบมา


 

เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา ท่านได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ศึกษาธรรมะที่ วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั้นจนเชี่ยวชาญจึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาที่วัดราชนุวาส เมื่อประมาณ พ.ศ. 2149 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ


 

ขอจบพระประวัติของหลวงปู่ทวดตอนที่หนึ่งไว้ตรงนี้  คอยติดตามตอนที่สองด้วยนะคะ