ถามครู? ไม่มีค่าเทอมยังให้เรียน "โรงเรียนวรรณวิทย์" 76 ปี สิ้นเสียง "ระฆัง"
76 ปี กับการให้โอกาสเด็กนักเรียนที่ขัดสน กับปณิธานอันแน่วแน่ ของ "โรงเรียนวรรณวิทย์" สร้างเด็กให้เป็นคนดี อยู่คู่สังคมได้ด้วยตนเอง หญิงแกร่ง ผู้โอบอ้อมอารีย์ ตำนานบทใหม่ของไทย ผู้สร้างบุคคลมีชื่อเสียง อย่าง ดาวใจ ไพรจิตร ตั๊ก บริบูรณ์ และอรัญญา นามวงษ์
20 มิถุนายน 2489 หม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา เปิดบ้านพักส่วนตัว ให้เด็กในชุมชนใกล้เคียง สุขุมวิทย์ ซอย 8 ราว 7-8 คนได้เข้ามาเล่าเรียนหนังสือ ในช่วงภาวะสงครามขณะนั้น นั่นคือจุดเริ่มต้นที่มาของตำนาน "โรงเรียนวรรณวิทย์" โรงเรียนของผู้ใหญ่ จากสตรีผู้โอบอ้อมอารีย์
76 ปี ของ "โรงเรียนวรรณวิทย์" ที่นำพาเด็กนักเรียนทุกชนชั้น ไปสู่การเติบโต เป็นคนดีในสังคม ผ่านร้อนหนาวมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาของบัญชีโรงเรียนที่ติดลบมาโดยตลอด สาเหตุหลักมาจาก "โรงเรียนวรรณวิทย์" เป็นโรงเรียนเอกชน ที่เปิดสอนนักเรียนที่ผู้ปกครองมีรายได้น้อย บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม แต่ครูใหญ่ ม.ร.ว. รุจีสมร สุขสวัสดิ์ หรือคุณหญิงอู้ ธิดาคนเล็กของหม่อมผิว ผู้รับหน้าที่ดูแลโรงเรียนต่อ ท่านไม่เคยให้เด็กที่มีปัญหาด้านการเงินต้องออกจากโรงเรียน หรือไม่ให้สอบ แต่ยังยอมให้ผ่อนผันค่าใช้จ่าย และเก็บค่าเทอมเพียงน้อยนิด เพื่อให้เด็กได้มีที่เรียน โดยตั้งปณิธานให้ "โรงเรียนวรรณวิทย์" เป็นที่พึ่งสำหรับเด็กยากจนได้มีโอกาสทางการศึกษา
ครูวราภร พงษ์รูป ผอ.โรงเรียนวรรณวิทย์คนปัจจุบัน เธอเติบโตมากับ "โรงเรียนวรรณวิทย์" เรียนที่นี่จบที่นี่ และเป็นครูที่นี่ มาตั้งแต่อายุ 15 ปี จนถึงปัจจุบัน 50 ปี กับความรักความผูกพันที่มีที่โรงเรียนแห่งนี้ มันเต็มไปด้วยโอกาส ความรัก ความสุข และความทรงจำที่งดงาม
ครูวราภร เล่าว่า เธอเรียนจบชั้นม.ศ. 3 ที่โรงเรียนแห่งนี้ สมัยก่อน ใกล้ๆกับ "โรงเรียนวรรณวิทย์" มีโรงงานยาสูบ ที่มีพนักงานจำนวนมาก "โรงเรียนวรรณวิทย์" จึงเป็นโรงเรียนที่ ผู้ปกครองที่มีฐานะลำบากยากจนส่งลูกหลานเข้ามาเรียน คุณพ่อของครูวราภรเป็นรปภ.ที่โรงงานยาสูบ เธอเรียนโรงเรียนนี้ตั้งแต่ชั้นป. 1 จนจบชั้นม.ศ. 3 จะเรียนต่อก็ลำบาก จึงมาขอครูใหญ่ หรือร.ม.ว. รุจีสมร เป็นคุณครูสอนในโรงเรียนแห่งนี้ และได้รับโอกาสจากครูใหญ่ให้สอนที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยที่ครูใหญ่ให้ครูวราภรไปศึกษาต่อ ครูวราภรจึงได้สอนหนังสือไปด้วยและเรียนไปด้วยจนจบชั้นปริญญาตรี และยังได้รับความเมตตาจากครูใหญ่ คุณหญิงอู้ ในการสอนงานด้านการบริหาร และครูใหญ่ ก็ได้ส่งก็ได้ให้ไปศึกษาต่อจนจบชั้นปริญญาโท และได้ช่วยงานครูใหญ่ มาโดยตลอด จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2564 ครูใหญ่ท่านทำงานเองไม่ไหวครูวราภรจึงได้รับโอกาสในการเข้ามาบริหารงานแทน จนถึงปัจจุบัน เท่ากับว่า 50 ปีของชีวิตครูวราภร อยู่คู่กับ "โรงเรียนวรรณวิทย์" และพร้อมส่งต่อความรู้ที่ได้รับ โอกาส มาจากครูใหญ่ มอบให้แก่นักเรียน "โรงเรียนวรรณวิทย์" แห่งนี้จนวันสุดท้าย
ด้วยความโอบอ้อมอารีและความเป็นกันเองถึงแม้จะเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ ทำให้ครูที่โรงเรียนแห่งนี้อยู่ คู่โรงเรียนแห่งนี้กันนาน ไม่มีใครอยากออกไปไหน เด็กนักเรียน "โรงเรียนวรรณวิทย์"เองต่างก็มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นนักเรียนในโรงเรียนวรรณวิทย์แม้จะเป็นนักเรียนโรงเรียนเล็ก ยืนหยัดสู้กับโรงเรียนขนาดใหญ่อื่นๆได้
ด้วยความที่ครูใหญ่เก็บค่าเทอมนักเรียนถูกมาก ครูวราภรเคยถามว่าเพราะอะไรจึงเก็บค่าเทอมในราคาถูกก็ได้ทราบคำตอบว่า
ถ้าเราเก็บค่าเทอมมากกว่านี้เด็กยากจนเขาจะเรียนที่ไหน
แม้แต่เด็กบางรายที่ยากจนไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมครูใหญ่ก็ยกให้โดยไม่คิดค่าเทอม แม้ โรงเรียน จะ ขาดทุน แต่ครูใหญ่ก็ยอมสละ ทรัพย์สมบัติส่วนตัว เพื่อประคับประคอง "โรงเรียนวรรณวิทย์" มาจนถึงทุกวันนี้
สิ้นเสียงระฆัง "โรงเรียนวรรณวิทย์" ปิดตำนาน 76 ปี
ความภูมิใจตลอด 76 ปีของ "โรงเรียนวรรณวิทย์" คือการได้ให้โอกาสนักเรียน ทางด้านการศึกษาจนเติบโตมาเป็นบุคลากรที่ดี และมีคุณภาพของสังคม สร้างบุคคลคุณภาพที่มีชื่อเสียง หลายต่อหลายคน อาทิ อรัญญา นามวงศ์, ดาวใจ ไพจิตร และสุมาลี ชาญภูมิดล , ตั๊กบริบูรณ์ จันทร์เรือง, พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผบ.กองเรือยุทธการ เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทร. , ภญ.ศิริกุล เมธีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และอีกมากมาย นับเป็นความสำเร็จและรางวัล ของครูผู้สอนและผู้บริหารของ "โรงเรียนวรรณวิทย์"
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ "โรงเรียนวรรณวิทย์" ต้องพบกับอุปสรรค ทางด้านการเงิน เพราะติดลบ มาโดยตลอด อีกทั้งปัจจุบันตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เด็กนักเรียน "โรงเรียนวรรณวิทย์"ลดจำนวนลงเหลือเพียง 146 คนเท่านั้น เนื่องจากโรงงานยาสูบ ย้ายสถานที่ตั้งอีกทั้งรอบบริเวณโรงเรียนกลายเป็นสถานบริการ ในรูปแบบต่างๆ ไม่มีชุมชนเหมือนแต่ก่อนชุมชนที่ใกล้เคียงที่สุด เด็กก็ยังต้องเดินทางไกลเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง จึงทำให้มีเด็กนักเรียนมาเรียนน้อยลง ส่งผลเงินอุดหนุนรายหัวของเด็กนักเรียน ที่จะได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ซึ่งนั่น นับเป็นรายได้หลัก ที่ใช้ในการประคับประคองโรงเรียน เพราะแม้ที่ผ่านมา จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือแต่ทาง "โรงเรียนวรรณวิทย์" เอง ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือเป็นเงิน เพราะคิดว่าคงไม่มีใครมาให้เงินเราได้ตลอด แต่อยากได้จำนวนนักเรียนเพิ่ม ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาได้มากกว่า และยั่งยืนกว่า การรับเงินช่วยจากบุคคลอื่น
ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือรวมไปถึงนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่เข้ามาในโรงเรียนรับรู้ถึงปัญหาภายในโรงเรียนและประทับใจในปณิธาน ของครูใหญ่ ที่ตั้งใจจะช่วยเหลือเด็กยากจนให้มีการศึกษา ถึงได้เป็นจุดกำเนิดให้คนได้รู้จัก "โรงเรียนวรรณวิทย์" และรู้ถึงปัญหาที่โรงเรียนประสบอยู่ ทำให้มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนอยู่สม่ำเสมอ แต่ปัจจัยที่ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโรงเรียนตัดสินใจที่จะยุติการเดินต่อของ "โรงเรียนวรรณวิทย์" คือทางโรงเรียนไม่สามารถที่จะหาเงินมาโปะยอดที่ขาดทุน เดือนละ 1.6 แสนบาททุกเดือนได้
ถามว่าเสียใจไหม?
ครูวราภร ตอบว่าเสียใจเพราะอุดมการณ์ของครูใหญ่คือจะปิดโรงเรียนก็ต่อเมื่อไม่มีนักเรียนแม้แต่คนเดียว แต่ปัจจุบันเหลือนักเรียนกว่าร้อยชีวิต แต่จำเป็นที่จะต้องปิดตัวลง เพราะสุดทางยื้อ เสียใจและเสียดายเพราะ "โรงเรียนวรรณวิทย์" เป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสในการผลิตเด็กๆ ที่เป็นทรัพยากรของประเทศโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ให้เติบโตจนกลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศไทยมากว่า 70 ปี
สำหรับความภูมิใจของครูวราภรในการที่ได้ อยู่คู่ "โรงเรียนวรรณวิทย์" มายาวนานถึง 50 ปีคือการภูมิใจที่ได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินโดยการได้สร้าง บุคลากรที่ดีให้แก่แผ่นดิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ "โรงเรียนวรรณวิทย์" มอบโอกาสให้
คุณกิตติ พรหมวิจิตร์ ศิษย์เก่าโรงเรียนวรรณวิทย์ เปิดเผยถึงความประทับใจของโรงเรียนว่า เมื่อนึกถึง "โรงเรียนวรรณวิทย์" ผมจะนึกถึงตึกไม้ที่ในทุกๆวันจะต้องทำเวรขัดพื้นไม้ให้เงา และเสียงระฆังที่ไม่เหมือนที่ใด มีความก้องกังวานเป็นเอกลักษณ์ของ "โรงเรียนวรรณวิทย์" รวมไปถึง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความโอบอ้อมอารี และไมตรีจิตของครูใหญ่ และคุณครูผู้สอนทุกคน ที่ถึงแม้วันนี้ตนเองจะอายุ 61 ปีแล้วแต่ยังสามารถจดจำชื่อครูผู้สอนได้ทุกคน ครูทุกคนตั้งใจสอนให้นักเรียนเป็นคนดี ด้วยใจจริง และแม้วันนี้จะถึงจุดสิ้นสุดของโรงเรียนที่ตัวเองรัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าวันนี้ต้องมาถึง และอยากให้จบลงอย่างเป็นตำนาน และความภาคภูมิใจของศิษย์เก่า "โรงเรียนวรรณวิทย์"
อยากฝากประชาสัมพันธ์ถึงศิษย์เก่า "โรงเรียนวรรณวิทย์" ทุกรุ่นจนถึงปัจจุบันให้มาร่วมงานรำลึกสิ้นระฆังกังวาน วรรณวิทย์ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 256 เพื่อเป็นการรำลึกถึงโรงเรียนที่ให้โอกาสเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเป็นตำนาน
"แม้จะสิ้นเสียงระฆัง ที่ดังกังวนมากว่า70 ปี แต่เสียงระฆังนี้จะยังคงดังอยู่ในหัวใจ ของบุคลากร ครูผู้สอน ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ของ โรงเรียนวรรณวิทย์ ให้หวล นึกถึง สตรีผู้ให้ คุณหญิงอุ้ม คุณยายอันเป็นที่รัก ของชาววรรณวิทย์ และจะเป็นเสียงระฆังในตำนานของคนไทยต่อไป"